ความยั่งยืน

ปี 67 ไทยร้อนแตะ 45 องศา สูงสุดในรอบ 73 ปี ศก. สิงคโปร์เสี่ยงเสียหาย 6 หมื่นลบ.จากอากาศร้อน

4 เม.ย. 67
ปี 67 ไทยร้อนแตะ 45 องศา สูงสุดในรอบ 73 ปี ศก. สิงคโปร์เสี่ยงเสียหาย 6 หมื่นลบ.จากอากาศร้อน

ปี 2567 เมืองไทยระอุ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ประกาศปีนี้ไทยร้อนทะลุสถิติแตะ 45 องศา สูงสุดในรอบ 73 ปี จากทั้งภาวะโลกร้อน และปรากฎการณ์เอลนีโญ วิจัยจากสิงคโปร์ชี้ เศรษฐกิจสิงคโปร์อาจเสียหายรวมได้ถึง 6 หมื่นล้านบาทในอีก 11 ปีข้างหน้า เพราะอากาศร้อนทำคนทำงานได้น้อยลง

เข้าเดือนเมษายน สิ่งที่หลายๆ คนสัมผัสได้เมื่อออกมานอกอาคารก็คืออากาศที่ร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แม้คนไทยจะชินกับอากาศแบบนี้กันอยู่แล้ว จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ปีนี้หน้าร้อนในไทยจะร้อนขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอีกประมาณ 1-2 องศา และทุกพื้นที่ของไทยจะมีอุณหภูมิสูงทะลุทุกสถิติเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2494 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยก็จะต่ำกว่าปกติจากภัยแล้ง

สำหรับระยะเวลา และสภาพอากาศของหน้าร้อนในแต่ละช่วง กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าหน้าร้อนของไทยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 ถึง กลางเดือนพฤษภาคม โดยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคม อากาศจะร้อนขึ้นในหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน แต่ภาคเหนือและอีสานยังมีอากาศเย็น ก่อนอุณหภูมิจะกลายเป็นร้อนจัดในหลายพื้นที่ และเกิดพายุฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี

ไทยตอนบนร้อนสุดที่ 43-44.5 องศา

จากทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย พื้นที่ที่จะมีอุณหภูมิสูงที่สุดในหน้าร้อนคือ พื้นที่ “ประเทศไทยตอนบน” อย่าง จ.แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี ที่จะมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 43-44.5 องศา เพราะเป็นพื้นที่ราบสูง และไม่มีป่าปกคลุมจากการตัดไม้ทำลายป่า 

รองลงมาเป็น “ภาคอีสาน” ที่ถึงแม้จะเป็นที่ราบสูงก็ยังมีพื้นที่ทำการเกษตรทำให้อากาศเย็นกว่า แต่ก็ยังทะลุ 40 องศา ที่ประมาณ 41-42 องศา ต่อด้วย “ภาคใต้” ที่จะมีอุณหภูมิไม่เกิน 40-41 องศา เพราะมีลมเย็นจากทะเลช่วยบรรเทาความร้อน

ส่วนพื้นที่เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวต่ำและกักเก็บความร้อนอย่าง “กรุงเทพมหานคร” จะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 41-42 องศาเช่นเดียวกัน เพราะพื้นที่ตั้งที่อยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และค่อนข้างอยู่ใกล้ทะเล ทำให้มีความชื้นและลมจากแหล่งน้ำและทะเลเข้ามาช่วยให้อากาศเย็นลงอยู่บ้าง

 

ปี 2567 จ่อโค่นปี 2566 เป็นปีที่ร้อนสุดในประวัติศาสตร์ 

ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันทั้ง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ออกมายืนยันแล้วว่าปี 2566 คือปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกอุณหภูมิมา โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในยุคก่อนอุตสาหกรรม (pre-industrial) ประมาณ 1.2-1.35 องศา

ทั้งนี้ แม้ 2566 จะร้อนเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปี 2567 อาจร้อนขึ้นจนทำลายสถิติปี 2566 ได้อีก โดยมีโอกาสถึง 1 ใน 3 ที่จะเป็นเช่นนั้น และมีโอกาส 99% ที่จะติด 1 ใน 5 อันดับปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น ทำให้อากาศในพื้นทวีปรอบๆ อุ่นขึ้นตามไปด้วย รวมไปถึงประเทศไทยที่อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งน่าจะเกิดลากยาวไปจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคมของปี 2567

ล่าสุดสัญญาณว่า 2567 จะเป็นปีที่ร้อนกว่า 2566 ก็เกิดขึ้นแล้ว หลัง Copernicus หน่วยงานเฝ้าสังเกตสภาพภูมิอากาศโลกจากยุโรปออกมาตีพิมพ์รายงานอุณหภูมิประจำเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ยืนยันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในทั้ง 2 เดือนแรกของปี 2567 ทะลุสถิติที่เคยเก็บมาตั้งแต่ปี 2483 เรียบร้อยแล้ว 

โดยในเดือนมกราคม อุณหภูมิโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.66 องศา ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์สูงกว่าประมาณ 1.77 องศา นอกจากนี้ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในนอกแถบขั้วโลกยังทะลุสถิติที่เคยมีมาที่ 21.09 องศา

Copernicus ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ เป็นผลกระทบโดยตรงมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และมลพิษทางอากาศ ที่แม้ทั้งโลกจะมีข้อตกลงร่วมกันคือข้อตกลงปารีสที่กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศา ด้วยการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ยังไม่ได้ผล เพราะไม่มีประเทศไหนสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ตามเป้า

 

สิงคโปร์จ่อเสียหาย 6 หมื่นลบ. จากอากาศร้อน คนทำงานได้ลดลง

ทั้งนี้ นอกจากภัยพิบัติต่างๆ แล้ว อากาศที่ร้อนจัดสามารถสร้างความเสียหายของเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับปัจเจกกว่านั้น ดังที่เห็นได้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่เผยว่าเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์เสี่ยงเสียหายรวมถึง 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2578 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า จากสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้น ทำให้คนทำงานได้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง

จากการศึกษา อากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานลดลง โดยในปี 2561 ผลิตภาพ (Productivity) ของคนงานในสิงคโปร์จาก 4 ภาคส่วนคือ ภาคบริการ ภาคก่อสร้าง ภาคการผลิต และภาคการเกษตร ลดลงถึง 11.3% จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และถ้าหากอุณหภูมิยังสูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการหดตัวจะเพิ่มขึ้นไปถึง 14% ภายในปี 2578 สร้างความเสียหายทั้งหมด 1.64 พันล้านดอลลารสหรัฐ

นอกจากนี้ ในทุกวันที่มีอากาศร้อน ผลิตภาพของพนักงานในชั่วโมงการทำงานจะลดลง จนทำให้รายได้กลางของคนงานแต่ละคนลดลงถึง 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน

ปัจจุบัน อากาศเฉลี่ยของสิงคโปร์สูงขึ้นเร็วเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับทั้งโลก แม้สิงคโปร์จะให้ความสำคัญมากกับการสร้างพื้นที่สีเขียวในประเทศ ทำให้หลายๆ ประเทศในพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงประเทศไทยมีสิทธิได้รับผลกระทบจากอากาศเช่นกัน แม้ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ศึกษาในประเทศไทยว่า อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลกับแรงงานไทยในแต่ละภาคส่วนอย่างไรบ้าง

 

อ้างอิง: กรมอุตุนิยมวิทยา, Reuters, Time, Copernicus 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT