การเงิน

ก.ล.ต สั่งห้ามคนไทยซื้อ NVDR เพิ่ม เริ่ม 1 เม.ย. 57 ไขข้อสงสัย ทำไมห้าม? ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร?

1 เม.ย. 67
ก.ล.ต สั่งห้ามคนไทยซื้อ NVDR เพิ่ม เริ่ม 1 เม.ย. 57 ไขข้อสงสัย ทำไมห้าม? ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร?

เริ่มใช้แล้ววันนี้ ก.ล.ต. ออกมาตรการห้ามไม่ให้นักลงทุนไทยซื้อใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ NVDR เพิ่ม เว้นแต่กรณีการได้มาตามสิทธิที่เกิดจากการถือครองหลักทรัพย์ NVDR ก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ หรือเป็นกรณีการโอนตามกฎหมาย

NVDR คืออะไร? ทำไมก.ล.ต. จึงห้ามไม่ให้คนไทยซื้อขายอีกต่อไป? และมาตรการนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการซื้อขายในตลาดหุ้น? ทีม SPOTLIGHT รวบรวมคำตอบมาให้ในบทความนี้

NVDR คืออะไร?

NVDR คือ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt) ถือเป็นตราสารชนิดหนึ่งที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นไทย และมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในหุ้นไทยได้โดยไม่ติดข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ (Foreign Limit) และสามารถรับเงินปันผลจากหุ้นไทยได้

ปัจจุบัน NVDR ทุกตัวในตลาดจะออกโดย “บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้น โดยบริษัทจะเข้าไปซื้อและถือหุ้นไทยที่นักลงทุนสนใจแล้วแปลงสิทธิถือหุ้นนั้นออกมาเป็น NVDR ทำให้อัตราส่วนถือหุ้นของบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์สะท้อนกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติสนใจอยู่ในขณะนั้นได้

ผู้สนใจสามารถซื้อ NVDR ได้ผ่านโบรกเกอร์ ในราคาขายเท่าราคาตลาดของหุ้นที่ NVDR ตัวนั้นอ้างอิงอยู่ และผู้ที่ถือ NVDR จะได้รับผลประโยชน์จากหุ้นที่ซื้อไปเหมือนกับการซื้อหุ้นไทยโดยตรงเกือบทุกประการ เช่น การได้รับเงินปันผล และได้รับกำไรส่วนต่างราคาในการซื้อขาย 

อย่างไรก็ตาม สิทธิหนึ่งที่ผู้ที่ถือ NVDR จะไม่มีเท่ากับผู้ถือหุ้นโดยตรงคือ สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น ตามที่ชื่อบอกไว้ว่าเป็น “Non-Voting” 

ในอดีต ก.ล.ต. เปิดให้ทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยถือครอง NVDR ได้ ก่อนที่จะมีคำสั่งห้ามไม่ให้นักลงทุนไทยซื้อ NVDR เพิ่ม และเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2567

ทำไมก.ล.ต.ห้ามไม่ให้นักลงทุนไทยซื้อ NVDR เพิ่ม?

ก.ล.ต. ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมการใช้ NVDR ของนักลงทุนไทย เพราะพบว่ามีนักลงทุนไทยบางรายนำ NVDR มาใช้เป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและกฎระเบียบบางประการ เช่น ใช้หลบหลีกการรายงานการซื้อขายหุ้น และปกปิดข้อมูลการถือครองหุ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดข้อมูลที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

นอกจากนี้ ก.ล.ต ยังเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเปิดให้นักลงทุนไทยซื้อขาย NVDR อีกต่อไป เพราะนักลงทุนไทยสามารถถือครองหุ้นไทยโดยตรง และรับผลประโยชน์เต็มๆ ของการถือหุ้น รวมไปถึงสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงตัดสินใจออกคำสั่งห้ามบริษัทหลักทรัพย์ไม่ให้รับคำสั่งซื้อ รับโอน หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่มีผลทำให้ผู้ลงทุนไทยมีหลักทรัพย์ NVDR เพิ่มขึ้น เว้นแต่กรณีการได้มาตามสิทธิที่เกิดจากการถือครองหลักทรัพย์ NVDR ก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ หรือเป็นกรณีการโอนตามกฎหมาย

กล่าวโดยง่ายคือ หลังจากวันที่ 1 เม.ย. 2567 นักลงทุนไทยจะไม่สามารถซื้อ NVDR เพิ่มได้ แต่สามารถถือต่อ หรือจะแปลง NVDR เป็นหุ้นสามัญผ่านบริษัทหลักทรัพย์ แล้วถือหรือขายต่อก็ได้ 

ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ ผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ (custodian) ในต่างประเทศ หรือผู้ดำเนินการเพื่อบุคคลอื่น บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการแจ้งลูกค้าถึงข้อจำกัดการให้บริการ

และให้ลูกค้าดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้รับประโยชน์ทุกรายทุกทอดที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ NVDR ที่มีสัญชาติไทย โดยให้บริษัทหลักทรัพย์รายงานต่อ ก.ล.ต. ทุกสิ้นเดือนและเมื่อมีการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

คำสั่งนี้จะกระทบกับการซื้อขายหุ้นในไทยหรือไม่?

จากคำอธิบายของ ก.ล.ต. การห้ามมิให้ผู้ลงทุนไทยซื้อ NVDR จะไม่มีผลกระทบกับการซื้อขายหุ้นโดยรวมเพราะการซื้อขาย NVDR ไม่ต่างจากการซื้อขายหุ้นทั่วไป โดยคำสั่งซื้อขาย NVDR จะถูกส่งเข้าไปในระบบซื้อขายของตลาดหลักรัพย์ โดยสามารถจับคู่ซื้อขายกับคำสั่งซื้อขายหุ้นสามัญทั่วไปได้ โดยไม่มีความแตกต่างกับการซื้อขายหุ้นสามัญปกติ

ดังนั้น มาตรการใหม่นี้จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าตลาดของบริษัท มูลค่าหุ้น หรือจำนวนหุ้นในตลาด เพราะ NVDR และหุ้นสามัญมีสถานะคล้ายกัน เพียงแต่ผู้ถือ NVDR จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น








advertisement

SPOTLIGHT