อินไซต์เศรษฐกิจ

ผู้ปกครองจ่ายแพงขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายการศึกษาไทยสูงขึ้น แต่คุณภาพยังต้องปรับปรุง

13 พ.ค. 67
ผู้ปกครองจ่ายแพงขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายการศึกษาไทยสูงขึ้น แต่คุณภาพยังต้องปรับปรุง

ต้อนรับเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2.3% เทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีผ่านมา หรือมีมูลค่าประมาณ 29,150 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง ผู้ปกครองจึงควบคุมค่าใช้จ่ายประหยัด เพื่อจัดสรรให้กับค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งมูลค่าการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้สะท้อนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีทิศทางที่ดี แต่มาจากการเปรียบเทียบกับผลด้านราคาและค่าครองชีพ ขณะที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยพิจารณาเลือกตัดลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก้อนอื่นๆ และหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเพิ่มทดแทนในเวลาเดียวกัน

โดยผลสำรวจการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 เทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า:

- ค่าเทอมและค่าธรรมเนียมของโรงเรียนรัฐและเอกชน เพิ่มขึ้น 2.6% หรือมีมูลค่า 24,430 ล้านบาท เนื่องจากโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนเข้าใหม่ จากต้นทุนการทำธุรกิจอย่างค่าจ้างบุคลากร หรือค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เพิ่มขึ้นเพียง 1.9% หรือมีมูลค่า 2,750 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูง ขณะที่ผู้ปกครองควบคุมงบประมาณการซื้อชุดนักเรียน และเลือกซื้อที่มีการจัดโปรโมชั่น

- ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และเสริมทักษะลดลง 0.7% หรือมีมูลค่า 1,490 ล้านบาท โดยผู้ปกครองบางกลุ่มลดวิชาเรียน และเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นผู้ปกครองคงจะให้บุตรหลานเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะเพิ่มเติม

- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือคงที่มูลค่า 480 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับบุตรหลานไปโรงเรียน

ถึงแม้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ปัจจัยแวดล้อมของการศึกษาเปลี่ยนแปลง บทบาทของเทคโนโลยีก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันในตลาดแรงงานสูงจากโลกของการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการแรงงานมีทักษะที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การศึกษาของไทยมีหลายประเด็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นคุณภาพที่ต้องเร่งจัดการ เนื่องจาก:

- ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่สูงขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะมีการแข่งขันที่สูง โรงเรียนที่มีหลักสูตรพิเศษอย่างภาษาต่างประเทศ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ

- คุณภาพการศึกษาของไทยที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีการวัดความสามารถด้านความรู้ระดับประเทศหรือ PISA พบว่า คะแนน PISA ของไทยลดลงในทุกมิติ โดยคะแนนการอ่าน ไทยอยู่อันดับที่ 64 จาก 81 ประเทศ ส่วนคะแนนวิชาคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 58 จาก 81 ประเทศ และคะแนนการวิชาวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 58 จาก 81 ประเทศ ซึ่งผลคะแนนที่ลดลงทุกปี จะมีผลระยะยาวต่ออนาคตของเด็ก และตลาดแรงงานไทย

- ทัศนคติการเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง จากผลสำรวจพบว่า 49% ของผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่าง เห็นด้วยกับบุตรหลานที่เริ่มมองว่าการเรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า ไม่สำคัญต่อการสมัครงานในอนาคต เพราะส่วนใหญ่มองว่า อาชีพอิสระหาเงินได้มากกว่า และหลายคนในปัจจุบันประสบความสำเร็จและสร้างรายได้จากการใช้เทคโนโลยี ขายของออนไลน์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ และสร้างรายได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผลต่อตลาดแรงงานในอนาคต

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากต้องการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และเตรียมทักษะความพร้อมให้กับนักเรียน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นดังนี้:

  1. การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
  2. การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป
  3. การยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา
  4. การพัฒนาและยกระดับความรู้ใหม่ๆ (Upskill และ Reskill) ให้กับบุคลากรผู้สอน รวมถึงการเพิ่มบุคลากรครูผู้สอน

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย Vol.30 No.3491 10 พฤษภาคม 2567

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT