การเงิน

หุ้นยุโรป-เอเชียขึ้น อานิสงส์ ECB หั่นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 5 ปี ส่อสัญญาณเฟด-แบงก์ชาติอื่นลดตาม

7 มิ.ย. 67
หุ้นยุโรป-เอเชียขึ้น อานิสงส์ ECB หั่นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 5 ปี ส่อสัญญาณเฟด-แบงก์ชาติอื่นลดตาม

หุ้นยุโรปและเอเชียปรับตัวขึ้น หลังธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสำหรับประเทศยุโรปครั้งแรกในรอบ 5 ปี เหลือ 3.75% จาก 4% ส่อสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางในเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายทั่วโลก

ในวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปเป็นธนาคารกลางที่สองในประเทศกลุ่ม G7 ที่ออกมาประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย ต่อจากธนาคารกลางแคนาดาที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปในวันพุธ เป็น 4.75% จาก 5% ทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางในประเทศ G7 อื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอียู เช่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาออกมาลดดอกเบี้ยนโยบายบ้าง

ในการแถลงข่าว คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานของ ECB ได้ให้เหตุผลถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จากก่อนหน้านี้ที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมานานว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ นั้น มีแนวโน้มไปในทางที่ดีแล้ว แม้ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของยุโรปยังอยู่เหนือเป้าที่ต้องการ คือ 2% เล็กน้อย

ทั้งนี้ แม้จะมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนลดดอกเบี้ยได้แล้ว นางคริสตินกล่าวว่า ECB มองว่าอัตราเงินเฟ้อของยุโรปน่าจะคงระดับอยู่ที่เหนือ 2% เล็กน้อยไปจนถึงปีหน้า และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2024-2025 ขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% จาก 2.3% และ 2.2% จาก 2% ตามลำดับ ขณะที่คาดการณ์สำหรับปี 2026 ยังอยู่ที่ 1.9% ดังเดิม

การที่ ECB ตัดสินใจปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ECB ไม่น่าจะปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองติดต่อกันในการประชุมเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะมาถึง แต่อาจจะตัดอีก 1-2 ครั้งในเดือนกันยายน ]และช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกัน 

หุ้นยุโรป-เอเชียขึ้น จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในครั้งนี้ ส่งผลบวกให้หุ้นยุโรปและเอเชียปรับตัวสูงขึ้น เพราะนักลงทุนมองว่า หลังจากแคนาดาและยุโรปออกมาปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ทั้งสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ก็จะออกมาปรับลดดอกเบี้ยมาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลก เพราะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อและกู้ยืมหรือลงทุนมากขึ้นในอนาคต

เห็นได้จาก หุ้นของยุโรปที่ปรับตัวขึ้นในเกือบทุกประเทศ โดย ดัชนี pan-European STOXX 600 เพิ่มขึ้น 0.7% ดัชนี MSCI World Index เพิ่มขึ้น 0.3% ขึ้นมาอยู่ระดับใกล้ record high ขณะที่เงินยูโรปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 39.66 บาทต่อหนึ่งยูโรในเวลา 10.00 น. ไทย ก่อนจะตกลงมาอยู่ที่ ประมาณ 39.59 ที่เวลา 13.30 น.

ส่วนทางฝั่งเอเชีย ดัชนี MSCI Asia-Pacific ex Japan เปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.3% ในวันที่ 7 มิถุนายน และเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยมาเป็น 0.35% ในเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ดัชนี Hang Seng Index ของฮ่องกงเปิดตลาดปรับตัวขึ้น 0.14% ขณะที่ดัชนี SET Index ของไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 0.25% ในเวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ นอกจากดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อีกตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจอีกตัวเลขหนึ่งที่นักลงทุนจับตามองในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือ nonfarm payrolls ของสหรัฐฯ ที่ถ้าออกมาต่ำก็จะอาจจะให้หุ้นปรับตัวขึ้นอีก เพราะส่งสัญญาณว่าเฟดน่าจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยได้ในปลายปีนี้

ในวันนี้ นักวิเคราะห์ในโพลของรอยเตอร์ คาดว่า สหรัฐฯ จะมีตำแหน่งงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 185,000 งานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ถ้าตัวเลขออกมาต่ำกว่านี้ เช่น ประมาณ 100,000-150,000 ตำแหน่ง หุ้นก็อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีและเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานที่เริ่มลดลงจะสะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีความร้อนแรงลดลง เปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์มองว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายนนี้ และน่าจะลดลงไปทั้งหมด 50 percentage points จาก 5.5% เหลือ 5% ภายในปลายปีนี้





ที่มา: Reuters 1, Reuters 2 

advertisement

SPOTLIGHT