ข่าวเศรษฐกิจ

เฟดคงดอกเบี้ยไว้ 5.25-5.50% สูงสุดในรอบกว่า 23 ปี ตรึงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

13 มิ.ย. 67
เฟดคงดอกเบี้ยไว้ 5.25-5.50%   สูงสุดในรอบกว่า 23 ปี   ตรึงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

 

อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นที่จับตามองของทุกประเทศทั่วโลก ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และมีโอกาสจะปรับลดลงเมื่อไหร่? ทิศทางดอกเบี้ยโลกจะเป็นอย่างไร?

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

สำหรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2568 ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค. ส่วนในปี 2569 คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.6%

ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เฟดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2567, 2568 และ 2569 อยู่ที่ระดับ 2.1%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2567 ที่ระดับ 4.0%, ปี 2568 4.2% และปี 2569 ที่ระดับ 4.1% ส่วนอัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.2%

นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 ที่ระดับ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% , ปี 2568 อยู่ที่ 2.3% จากคาดการร์ 2.2% และปี 2569 2.0% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.0% 

โดยแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานี้ อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายที่ระดับ 2% ที่คณะกรรมการเฟดตั้งเป้าไว้เพียงเล็กน้อย

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและเงินเฟ้อนั้น อยู่ในทิศทางที่มีความสมดุลมากขึ้นในปีที่แล้ว ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และคณะกรรมการยังคงให้ความสนใจกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ส่วนในการพิจารณาเรื่องการปรับช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น 

โดยคณะกรรมการจะใช้ความระมัดระวังในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสมดุลของความเสี่ยง คณะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ แต่ยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

 

advertisement

SPOTLIGHT