ข่าวเศรษฐกิจ

กนง.คงดอกเบี้ยตามคาด ไว้ที่ 2.50% ชี้เงินเฟ้อเพิ่ม จีดีพีไทยปีนี้ 2.6%

13 มิ.ย. 67
กนง.คงดอกเบี้ยตามคาด ไว้ที่ 2.50% ชี้เงินเฟ้อเพิ่ม จีดีพีไทยปีนี้ 2.6%

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทย เป็นที่จับตามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่? ท่ามกลางกระแสกดดันจากฝากของรัฐบาลไทยที่ต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของโลกมีแนวโน้มปรับลดลง 

ล่าสุด คณะกรรมการ กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี 

img_0446 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งสินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่า ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้างหลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและมาตรการภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตถึง 3.0%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ กนง.ได้พิจารณาภาพรวมของนโยบายและมาตรการของรัฐที่มีความชัดเจนแล้ว สิ่งที่ชัดเจนสุด คือ เรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน และการบริโภคภาครัฐ ส่วนมาตรการเสริม เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ได้รวมไว้ในการพิจารณาด้วยแล้ว เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ได้ประมาณหนึ่ง ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/68

" จุดยืนนโยบายการเงินก็ยังคงรองรับความเสี่ยงด้านสูงตอนนั้นได้ด้วย พร้อมกับความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจจะมาจากภาคส่งออกด้วย เราได้พิจารณาจากทุกมาตรการรัฐที่ประกาศมาทั้งหมด ตัวเลข 3% คิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ หรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา" นายปิติกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 นั้น จะเติบโตที่ 1.5% แม้เทียบปีต่อปี (YoY) จะดูไม่สูงมาก และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ แต่ถ้ามองในแง่ของแนวโน้มโมเมนตัม แรงส่งเทียบไตรมาส 4/66 กับไตรมาส 1/67 กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การหมุนเวียนของการจับจ่ายใช้สอยมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างเร็ว หากเทียบรายไตรมาส/ไตรมาส อาจจะสูงกว่าระดับศักยภาพด้วยซ้ำไป

อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสอยู่ในกรอบเป้าหมาย

เป้าหมายเงินเฟ้อก็เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีเครื่องยึดเหนี่ยว หรือสามารถคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้ในระยะปานกลาง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการลงทุน การออม และการกู้ยืม ดังนั้น ธปท.ไม่ต้องการให้เงินเฟ้อในระยะปานกลางปรับขึ้นลงหรือผันผวนมาก เพราะจะสร้างความยากลำบากในการวางแผนต่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนด้วย

ปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามาในแต่ละเดือน แม้จะทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่นอกกรอบบน หรือหลุดกรอบล่างไปบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ เมื่อเกิดช็อก หรือแรงกระแทกที่เป็นปัจจัยระยะสั้นเข้ามาแล้ว ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจยังมองแนวโน้มคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางว่าอย่างไร ถ้ามองว่ายังสามารถอยู่ในกรอบได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่ธนาคารกลางจะได้ไม่ต้องพยายามต่อสู้กับเงินเฟ้อเหมือนในต่างประเทศที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูง 5-6%

ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแรงเรื่องดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อ จึงขึ้นอยู่กับว่า เงินเฟ้อคาดการณ์เป็นอย่างไร กรอบเป้าหมายสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ขนาดใด และหากให้มองแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ก็เชื่อว่าจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้

ในภาพใหญ่ เงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกังวลมาก แต่เราจะกังวลถ้าเงินเฟ้อสูงจนเป็นการเพิ่มภาระการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า นอกจากนี้ กนง.ไม่อยากให้เงินเฟ้อมีความผันผวนมาก เพราะจะสร้างความไม่แน่นอนกับการวางแผนของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จึงเห็นว่าแม้เงินเฟ้อรายเดือนจะปรับขึ้นลงหลุดกรอบเป้าหมายไปบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือแนวโน้มปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันค่อนข้างเป็นกลาง ซึ่ง กนง.จะมาพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นในช่วงต่อ ๆ ไปว่าจะมีทิศทางอย่างไร และไม่ได้มีการปิดกั้นว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันนี้จะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยไปตลอด กนง.จะมีการอัพเดทสถานการณ์อยู่เสมอ

ต่อข้อซักถามถึงโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า หากเป็นแรงกระแทกระยะสั้น เช่น อุปสงค์ที่แผ่วลง หรือเร่งขึ้นในระยะสั้น ก็ต้องดูว่าจะตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราก็คาดเดาไม่ได้ว่าช็อคจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราจะพิจารณาได้ใกล้ ๆ คือ neutral ที่เราวางไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เทียบเคียงกับภาพจริงของเศรษฐกิจ จะเห็นชัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ว่าจะเป็นระดับที่ถูกต้อง เป็นระดับที่พอเหมาะหรือเปล่า ไม่มีการปิดกั้นในการทบทวนจุดยืน แต่ ณ จุดนี้ทุกอย่างในภาพใหญ่ ยังดำเนินไปตามภาพที่เรามองไว้

advertisement

SPOTLIGHT