ข่าวเศรษฐกิจ

ส่อง GDP ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังพัฒนา ประเทศไทย GDP โตน้อยสุด?

21 พ.ค. 67
ส่อง GDP ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังพัฒนา  ประเทศไทย GDP โตน้อยสุด?

 

จากตัวเลขเศรษฐกิจไทย ที่ประกาศโดยสภาพัฒน์นั้น สภาพัฒน์มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากรอบด้าน 

SPOTLIGHT จะพามาดูกันว่า GDP ประเทศไหน เติบโตน้อยสุด ในประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา GDP ไทย จะเป็นอย่างไร

248290

โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2567 ทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจมีการขยายตัว เรียงจากที่เติบโตสูงสุด จนถึงเติบโตน้อยสุด พบว่า

อันดับ 1 ไต้หวัน      GDP + 6.5%

อันดับ 2 ฟิลิปปินส์   GDP + 5.7%

อันดับ 3 เวียดนาม   GDP + 5.7%

อันดับ 4 จีน           GDP + 5.3%

อันดับ 5 อินโดนีเซีย  GDP + 5.1%

อันดับ 6 มาเลเซีย     GDP + 3.9%

อันดับ 7 เกาหลีใต้    GDP + 3.4%

อันดับ 8 สิงคโปร์     GDP + 2.7%

อันดับ 9 ฮ่องกง      GDP + 2.7%

อันดับ 10 ไทย      GDP + 1.5%

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 เหลือ 2-3% ค่ากลางที่ 2.5% จากเดิมที่ 2.2-3.2% และจากค่ากลางที่ 2.7%  จากปัจจัยเรื่องของสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร

Krungthai COMPASS คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้เพียง 2.3%

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว 1.5%YoY เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4/2566 ที่ 1.7%YoY 

โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เนื่องจากกระบวนการงบประมาณปี 2567 ใช้เวลานานกว่าคาด และการส่งออกสินค้าที่กลับมาหดตัว 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการส่งออกบริการที่เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วง 2.0-3.0% มีค่ากลางที่ 2.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.2-3.2% มีค่ากลางที่ 2.7%

อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ประเมินว่า แนวโน้มศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ 2.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.7% สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ ที่ประเมินว่า ศรษฐกิจในปีนี้มีปัจจัยกดดันดังนี้

  1. การส่งออกสินค้าที่อาจเติบโตได้ต่ำจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย 
  2. การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์

วิจัยกรุงศรี มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะยังมีการฟื้นตัวตามวัฏจักร 

โดย GDP ไทย มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนนั้น มีปัจจัยบวก ดังนี้

  1. การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งขึ้นในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุน (หลังล่าช้าไป 7 เดือน) 
  2. การเติบโตของภาคท่องเที่ยว  ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ 

กรุงศรีเตรียมปรับเป้า GDP ไทย 

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรี อยู่ระหว่างทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ เพื่อสะท้อนการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกที่ดีกว่าคาด และข้อจำกัดและอุปสรรค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคครัวเรือนมากขึ้น 

ขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและผู้บริโภคที่อ่อนแอลง และผลกระทบจากภัยแล้งที่กดดันปริมาณผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรอีกด้วย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมร่วงลงในต้นไตรมาสสอง ชี้เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางในการฟื้นตัว ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 62.1 จาก 63.0 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นหลังจากทางการทยอยลดการอุดหนุน 

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรรม (TISI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 90.3 จาก 92.4 เดือนมีนาคม เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567

แม้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/2567 จะได้แรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มถูกกดดันจากความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลง 

อย่างไรก็ตาม การรายงานของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ชี้ชัดว่า กลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (หนี้ค้างชำระมากกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้น 32.4% YoY และ 15.0% YoY ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียและอาจส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของการบริโภคได้ในระยะถัดไป

ขณะที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังมีความกังวล ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั่นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน ล่าสุด คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละเท่าไร มีกิจการใดบ้างที่ควรปรับขึ้นค่าจ้าง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

รมว.คลังชี้ 2.5% ยังน้อยไป ต้องมีมาตรการกระตุ้น

ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลยังไม่พอใจกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.5% ตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ มองว่า ไทยต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมครม. ว่ารัฐบาลอยากเห็นเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ขยายตัวได้เกินกว่า 2.5% โดยควรหามาตรการต่าง ๆ มาประตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวให้มากขึ้น

“ ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เติบโตมากกว่าไทย โดยหลายประเทศเติบโตมากกว่า 5% หากเราเติบโตแค่ 2.5% แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่เราไม่ควรจะพึงพอใจแค่นี้ โดยควรหามาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพ หรือโตให้มากกว่า 2.5%” นายพิชัยระบุ

ฉะนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงชะลอตัวอย่างชัดเจน และมีโอกาสที่จะต่ำกว่าที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศไม่เอื้อต่อการขยายตัว ต่อจากนี้คงต้องจับตาดูนโยบายการคลัง จะมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหรือไม่ แม้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะออกมาแต่ก็อาจจะไม่ทันกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้เท่าใดนัก 

ขณะที่นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมองความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ถึงเวลาที่นโยบายการเงินต้องทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วหรือยัง แต่ถ้าใช้แล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จริงหรือไม่ ท่ามกลางหนี้ของประชาชนสูงขนาดนี้ เรื่องนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินคงต้องคิดหนัก คิดดีๆ วิเคราะห์ให้รอบด้าน ก่อนที่ไทยจะไม่มีกระสุนใช้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT