สถิติพบเด็กเวียดนามไปเรียนนอกประเทศมากที่สุดในอาเซียน เน้นการเรียนด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะกลับมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าสูง และหลายๆ ชาติเอเชียกำลังเร่งพัฒนาแข่งขันกันอยู่ ขณะที่ไทยตามมาในอันดับที่ 4
ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญ ก็คือ ‘กำลังคน’ ที่มีความสามารถ เพราะถ้าหากปราศจากผู้มีความรู้ความสามารถกลับมาทำงานหรือดำเนินธุรกิจในประเทศแล้ว เศรษฐกิจก็จะยังคงติดหล่ม ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะด้านการสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตได้
และในหมู่ประเทศในอาเซียน หนึ่งในประเทศที่มีข้อได้เปรียบดังกล่าว ก็คือ ‘เวียดนาม’ ที่นอกจากจะมีประชากรจำนวนมากไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังในหลายๆ ประเทศแล้ว ยังมีเครือข่ายของผู้อพยพที่เดินทางออกไปอาศัยและทำงานอยู่ในต่างประเทศที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาทำงานในประเทศแม่ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
เด็กเวียดนามเรียนนอกมากสุดในอาเซียน ‘ญี่ปุ่น’ จุดหมายอันดับ 1
จากข้อมูลของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 2021 เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่มีประชากรออกไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ คือมีทั้งหมด 137,022 คน
โดยจุดหมายยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ
- ญี่ปุ่น จำนวน 44,128 คน
- เกาหลีใต้ จำนวน 24,928 คน
- สหรัฐอเมริกา จำนวน 23,155 คน
- ออสเตรเลีย จำนวน 14,111 คน
- แคนาดา จำนวน 8,943 คน
นอกจากนี้ ตัวเลขนักเรียนนอกของเวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนยังเรียกได้ว่านำแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะอันดับ 2 อย่าง ‘อินโดนีเซีย’ นั้นมีจำนวนนักเรียนที่ไปเรียนต่างประเทศเพียง 59,224 คน อันดับ 3 อย่าง ‘มาเลเซีย’ มี 48,810 คน ขณะที่ ‘ไทย’ ที่มาเป็นอันดับที่ 4 มีทั้งหมด 28,609 คน
หากมองจากตัวเลขนี้ เวียดนามจึงมีข้อได้เปรียบเหนือประเทศอื่นในอาเซียน ยกเว้น สิงคโปร์ ในแง่ที่กำลังจะมีบัณฑิตและแรงงานศักยภาพสูงมากมายที่กำลังจะจบการศึกษาจากต่างประเทศ ที่นอกจากจะมาพร้อมคอนเนคชั่นในประเทศที่เรียน และความสามารถด้านภาษาแล้ว ยังมาพร้อมกับแนวคิดและประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทระดับโลก ที่เด็กที่เรียนแต่ในประเทศของตัวเองไม่มีทางได้สัมผัส
ทุนเน้นด้านเทคโนโลยี สร้างแรงงานเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีนักเรียนออกไปเรียนต่างประเทศได้มาก มีทั้ง ‘ค่านิยมในการออกไปเรียนต่างประเทศของชาวเวียดนาม’ เอง ในกรณีที่เป็นครอบครัวมีฐานะและมีกำลังส่งลูกหลานไปเรียน และ ‘ทุนการศึกษาจากต่างประเทศ’
โดยในหมู่ทุนการศึกษาทั้งหมด ทุนที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ คือ ทุนจากมูลนิธิ Vietnam Education Foundation (VEF) ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ ตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อให้ทุนการศึกษาเด็กเวียดนามไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ โดยใช้เงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เวียดนามส่งเป็นเป็นเงินใช้หนี้สงครามให้สหรัฐฯ ทุกปี โดยส่วนมากจะได้เข้าศึกษาในคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยดังระดับโลกต่างๆ ทั้ง Harvard และ Stanford
ความสำคัญของทุนนี้เห็นได้ชัดจากผลงานของผู้ได้รับทุนเก่าที่ส่วนมากกลับมาทำงาน และประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี โดยผลงานที่โดดเด่นของผู้ได้รับทุน VEF ก็อย่างเช่น Palexy บริษัทสตาร์ทอัพด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง และ VNG บริษัทยูนิคอร์นเจ้าของแอปแชท Zalo ที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในเวียดนามมากกว่า Facebook
นี่ทำให้นอกจากเวียดนามจะมีเด็กไปเรียนต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว จำนวนหนึ่งยังเป็นผู้ที่กำลังศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการมากในหลายๆ ประเทศที่กำลังแข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้ง เวียดนามที่มีการเติบโตรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีศักยภาพในการดึงแรงงานกลับประเทศ ไม่เกิดปรากฎการณ์ ‘สมองไหล’ อย่างที่ผ่านมา
ปัจจุบัน เวียดนามมีตลาดงานที่พร้อมรองรับบัณฑิตศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ สนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น LG และ Alibaba และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงต่างๆ โดยในปี 2020 มีการส่งออกสินค้าในประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 42% เพิ่มจากเพียง 13% ในปี 2010
จากการศึกษาของ Google, Temasek, และ Bain เวียดนามจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคภายอาเซียนภายในปี 2025 และดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุดในระหว่างปี 2025-2030
ปริญญาในประเทศไม่น่าดึงดูด สร้างความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ การที่มีเด็กออกไปเรียนต่างประเทศมากก็อาจส่งผลเสียต่อเวียดนาม ในแง่ที่การเข้ามาของแรงงานที่มีการศึกษาจากต่างประเทศ อาจทำให้เกิดการแบ่งแยก และทำให้บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศถูกด้อยค่า ไม่สามารถเข้าถึงงานระดับสูง และพัฒนาความสามารถของตัวเองได้
สำหรับในแง่ของวัฒนธรรมการเรียนการสอนในเวียดนามยังคล้ายกับประเทศไทย คือ นับถือระบบอาวุโส และอำนาจนิยมสูง เน้นให้เด็กท่องจำ ไม่ให้ตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นขัดกับครูบาอาจารย์หรือผู้ใหญ่ ทำให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และคิดนอกกรอบ น้อยกว่าแรงงานที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ
หรือในอีกแง่หนึ่ง สภาพแวดล้อมแบบอำนาจนิยมนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศไม่อยากกลับมาทำงานในประเทศ เพราะมองว่าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อกับการเติบโตและพัฒนาความสามารถ
ดังนั้น เวียดนามจึงมีความท้าทายสำคัญคือ การพัฒนาวิธีสอน และวิธีการทำงานเสียใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในประเทศให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับต่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่จบการศึกษาภายในและนอกประเทศ รวมไปถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าดึงดูดเพื่อจูงใจให้แรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาช่วยทำงาน และสร้างเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ
ที่มา: ยูเนสโก, นิกเกอิ เอเชีย