ข่าวเศรษฐกิจ

ศก. ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย GDP หด 2 ไตรมาสรวด เหตุเงินเฟ้อ ประชาชนไม่ใช้จ่าย

15 ก.พ. 67
ศก. ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย GDP หด 2 ไตรมาสรวด เหตุเงินเฟ้อ ประชาชนไม่ใช้จ่าย

ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังมีรายงานระบุว่า GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ของญี่ปุ่นหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังต่ำจากความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ และเงินออมของประชาชนที่มีจำนวนต่ำลง อีกทั้งค่าเงินเยนยังอ่อน ทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกลดลง

ในวันนี้ (15 ก.พ.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ออกมารายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจสำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 พบว่า GDP ลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวของ GDP เป็นไตรมาสที่ 2 ติตต่อกัน ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แล้วในเชิงเทคนิค 

นอกจากนี้ หากมองเป็นรายไตรมาส GDP ในไตรมาสล่าสุดของญี่ปุ่นยังลดลงถึง 0.1% ผิดความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่มองว่า GDP ของญี่ปุ่นจะโตขึ้น 0.2% ในไตรมาสที่ 4 และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังได้ปรับลด GDP ในไตรมาสที่ 3 เป็น -0.8% จาก -0.7%

การหดตัวของ GDP ทำให้นักวิเคราะห์ มองว่า การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะไม่เป็นความจริง เพราะการปรับเพิ่มดอกเบี้ยจะซ้ำภาวะเศรษฐกิจซบเซา และทำให้ประชาชนไม่อยากใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก

โดยขณะนี้ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงดำเนินอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบ เพื่อกระตุ้นให้มีการขอสินเชื่อ ลงทุน และการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคงไว้ที่ระดับ -0.1% มาตั้งแต่ปี 2016

ญี่ปุ่นเจอ Stagflation เงินเฟ้อ แต่เศรษฐกิจไม่โต คนไม่ใช้จ่าย

ปัจจุบัน สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซบเซาลง คือ การบริโภคภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะเงินเฟ้อยังอยูในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ค่าเยนอ่อนทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงขึ้น และส่งออกได้ในมูลค่าที่ต่ำลง ขณะที่ค่าแรงขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนไม่ออกมาใช้จ่าย เพราะต้องการประหยัดเงินไว้เพื่อซื้อของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า การใช้จ่ายในภาคเอกชนของญี่ปุ่นลดลง 0.2% ในไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 2.5% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติตด่อกัน เช่นเดียวกับการใช้จ่ายในภาคธุรกิจที่ลดลง 0.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน

นี่ทำให้ญี่ปุ่นกำลังเจอภาวะ Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา แต่มีเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจไม่มีกำลังใช้จ่าย ทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาแล้วย่ำแย่ลงไปอีก

นอกจากนี้ แม้ในช่วงปลายปี ญี่ปุ่นจะสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้นจากดีมานด์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินเยนที่อ่อนก็ทำให้การเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออกไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะค่าเงินทำให้สินค้าของญี่ปุ่นในตลาดโลกมีราคาต่ำลง 

ดังนั้น นอกจากการบริโภคภายในประเทศที่ย่ำแย่แล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเจอกับปัญหาการบริโภคภายนอกประเทศ ที่ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก เพราะในปี 2024 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง ‘จีน’ ก็กำลังประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจซบเซาไม่แพ้กัน ทำให้ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้น่าจะคงระดับอยู่ไม่ได้นานนัก

 

 

ที่มา: CNBC, Bloomberg




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT