ข่าวเศรษฐกิจ

Evergrande ถูกศาลสั่งปิดบริษัทใช้หนี้กว่า 10 ล้านล้านบาท กระทบศก.จีนแค่ไหน? มีโอกาสลามหรือไม่?

29 ม.ค. 67
Evergrande ถูกศาลสั่งปิดบริษัทใช้หนี้กว่า 10 ล้านล้านบาท กระทบศก.จีนแค่ไหน? มีโอกาสลามหรือไม่?

‘เอเวอร์แกรนด์’ (Evergrande) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จากจีน ถูกศาลฮ่องกงสั่งปิดกิจการเพื่อขายทรัพย์สินไปใช้หนี้รวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท คาดกระทบวงการอสังหาฯ ลดความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีน ซ้ำเติมภาวะเงินฝืด

ในวันนี้ (29 ม.ค.) ศาลฮ่องกงสั่งให้ China Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากจีนปิดกิจการ เพื่อนำทรัพย์สินมาใช้เจ้าหนี้ หลังจากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มาเกือบ 2 ปีแต่ไม่สำเร็จ

Top Shine Global บริษัทที่ลงทุนใน Fangchebao บริษัทลูกของ Evergrande ได้ยื่นคำฟ้องปิดกิจการกับศาลฮ่องกงในเดือนมิถุนายนปี 2022 หลัง Evergrande ไม่สามารถซื้อหุ้นของ Fangchebao ที่ Top Shine ถืออยู่คืนไปได้ตามสัญญา โดย Evergrande ได้มีการเจรจาแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กับเจ้าหนี้มานานเกือบ 2 ปี แต่ไม่ได้ข้อตกลงที่น่าพึงพอใจ

ในอดีต Evergrande เคยเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แต่เริ่มประสบปัญหาหนี้ในปี 2021 หลังรัฐบาลจีนออกมาบังคับใช้มาตรการปราบปรามการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย และเริ่มจำกัดระดับหนี้ที่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ สามารถสร้างได้ให้ไม่เกิน 70% ของทรัพย์สิน ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องและมีหนี้รวมกว่า 3 แสนดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และไม่สามารถชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้

ยึดได้แต่ทรัพย์สินในฮ่องกง เจ้าหนี้อาจได้เงืนคืนแค่ 3.4%

หลังมีคำสั่งจากศาลให้บริษัท ‘liquidate’ หรือ เริ่มดำเนินการเลิกกิจการและขายสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อการชำระบัญชีแล้ว  ผู้ชำระบัญชี (liquidator) ที่ถูกแต่งตั้งโดยศาลจะสามารถเข้าไปควบคุมทรัพย์สินของบริษัท เพื่อนำทรัพย์สินนั้นไปขายเพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้

ทั้งนี้ ผู้ชำระบัญชียังสามารถเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้แผนใหม่ให้กับเจ้าหนี้ได้ หากผู้ชำระบัญชีมองว่า บริษัทยังมีทรัพย์สินมากพอที่จะทำตามแผนได้ หรือมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และ Evergrande ยังอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฮ่องกงได้ แต่กระบวนการชำระบัญชีจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะได้คำสั่งใหม่จากศาล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำสั่งนี้เป็นคำสั่งที่ออกโดยศาลฮ่องกง ทรัพย์สินที่ผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเข้าไปควบคุมได้ในปัจจุบันจะต้องเป็นทรัพย์สินของบริษัทลูกที่จดทะเบียนในฮ่องกงคือ Evergrande Property Services Group และ Evergrande New Energy Vehicle Group เท่านั้น 

ดังนั้น หากผู้ชำระบัญชีต้องการเข้าไปควบคุมทรัพย์สินของบริษัทลูกของ Evergrande ที่ทำการในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ชำระบัญชีจะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อเปลี่ยนตัวผู้แทนด้านกฎหมายของบริษัทเหล่านี้ทีละบริษัทซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปี 

โดยในปัจจุบัน เมืองที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ชำระบัญชีมากที่สุด ก็คือ เมือง ‘กวางโจว’ ซึ่งเป็นเมืองที่ Evergrande เข้าไปทำธุรกิจอยู่ เพราะเมืองนี้ไม่ได้เป็นหนึ่งในสามเมืองของจีน ที่ยอมรับคำสั่งปิดกิจการของศาลฮ่องกง ซึ่งได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และเซี่ยเหมิน

นอกเหนือจากปัญหาด้านกฎหมายแล้ว การบังคับปิดกิจการและนำทรัพย์สินไปชำระหนี้อาจไม่ช่วยอะไรนัก เพราะในปัจจุบันทรัพย์สินส่วนมากของ Evergrande ก็ถูกเจ้าหนี้ หรือธนาคารยึด หรือมีมูลค่าลดลงจนแทบไม่มีค่าอะไรแล้ว

โดยจากการวิเคราะห์ของ Deloitte ที่เปิดเผยในระหว่างการรับฟังข้อมูลของศาลในเดือนกรกฎาคม เจ้าหนี้อาจได้เงินคืนเพียง 3.4% เท่านั้น หาก Evergrande ถูกปิดกิจการ โดยยังไม่มีความแน่นอนว่าเจ้าหนี้กลุ่มใดระหว่างเจ้าหนี้ต่างประเทศ และเจ้าหนี้ในประเทศ จะได้สิทธิรับเงินคืนก่อน

กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซบเซา

คำสั่งปิดกิจการของ Evergrande ในครั้งนี้ จะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคส่วนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยคิดเป็นประมาณ 30% ของ GDP และการล้มละลายของ Evergrande จะทำให้ผู้บริโภคจีนที่ในปัจจุบันไม่เชื่อมั่นในภาคอสังหาฯ อยู่แล้ว จะไม่ยอมลงทุนกับที่อยู่อาศัย ทำให้บริษัทอสังหาฯ ต้องประสบปัญหาสภาพคล่องต่อไป

นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้จะยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้ให้สินเชื่ออื่นๆ ที่จะมีต่อภาคอสังหาฯ และภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจของจีน ทำให้บริษัทจีนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาในขณะนี้

ในปี 2023 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 5.3% ในปีที่แล้ว ทั้งจากวิกฤตในวงการอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตและส่งออกที่ลดลงจากดีมานด์ที่อ่อนแอ ดังนั้นหากวิกฤตในวงการอสังหาฯ เลวร้ายลง ความหวังของจีนที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะยากลำบากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้อาจยังไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่ทำธุรกิจกับจีนด้วย เช่น ประเทศไทย ที่เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและสินค้าบางอย่างไปจีน และยังต้องพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้




ที่มา: Reuters, ABC News

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT