ข่าวเศรษฐกิจ

3 วิธี ปลด “หนี้นอกระบบ” 

28 ม.ค. 67
3 วิธี ปลด “หนี้นอกระบบ” 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงถึง 90.9% หนึ่งในปัญหาหลักของหนี้ครัวเรือนไทย คือ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการให้ประชาชนออกมาลงทะเบียน เพื่อให้ทางการช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบ

เหตุผลที่ทำให้ประชาชน เป็น “หนี้นอกระบบ” ทั้งมีเรื่องให้ต้องใช้เงินฉุกเฉิน เงินไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องลงทุนค้าขาย หมุนเงินไปจ่ายหนี้เดิม หรือกู้เงินในระบบไม่ได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ธนาคารกำหนดหรือมีหนี้ในระบบมากมายจนกู้เพิ่มไม่ได้ หลากหลายเหตุผลที่คนไทยติดกับดัก “หนี้นอกระบบ”

วันนี้ SPOTLIGHT มี 3 วิธี ช่วยปลด “หนี้นอกระบบ” มาแนะนำ ดังนี้

  1. หาเงินมาปิดหนี้ : เริ่มต้นด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง เช่น ค่าช้อปปิ้ง ค่าอาหารมื้อพิเศษ ค่ากาแฟ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย รายได้เพิ่มเติมจากความถนัด หรืองานอดิเรกของตัวเอง และรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ว่า มีอะไรที่น่าจะมีคนสนใจซื้อและขายออกได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่คงบอกว่า ทำใจลำบาก แต่เมื่อเวลาผ่านสถานการณ์ไปได้ค่อยทยอยเก็บเงินซื้อทรัพย์สินใหม่ก็ยังไม่สาย
  2. หาแหล่งเงินกู้ในระบบ : สอบถามธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบออกมาเป็นระยะๆ หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น สินเชื่อบุคคล ซึ่งมีทั้งไม่มีหลักประกัน และมีหลักประกัน เช่น บ้าน หรือทะเบียนรถ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อพิโกพลัส ซึ่งดอกเบี้ยถูกว่าสินเชื่อนอกระบบ มีสัญญาชัดเจน และมีหน่วยงานกำกับดูแล
  3. หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ : ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย (สคช.) สำนักอัยการสูงสุด สายด้วย 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด จะเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

ยอดมีประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบ แล้วกว่า 1.35 แสนราย 

ทั้งนี้ รัฐบาล ได้เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 57 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยมีมูลหนี้ 9,141 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.35 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 8,470 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 633 ล้านบาท 

โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ระบุว่า 

  • มีมูลหนี้รวม 9,141.260 ล้านบาท 
  • ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,101 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 114,559 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 20,542 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 102,153 ราย 
  • มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 
  1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,061 ราย เจ้าหนี้ 7,403 ราย มูลหนี้ 809.364 ล้านบาท 
  2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,507 ราย เจ้าหนี้ 4,975 ราย มูลหนี้ 370.846 ล้านบาท 
  3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,018 ราย เจ้าหนี้ 3,894 ราย มูลหนี้ 329.867 ล้านบาท 
  4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,755 ราย เจ้าหนี้ 3,405 ราย มูลหนี้ 380.050 ล้านบาท 
  5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,557 ราย เจ้าหนี้ 2,385 ราย มูลหนี้ 294.894 ล้านบาท 
  • ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 
  1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 217 ราย เจ้าหนี้ 227 ราย มูลหนี้ 12.622 ล้านบาท 
  2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 298 ราย เจ้าหนี้ 215 ราย มูลหนี้ 20.705 ล้านบาท 
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 353 ราย เจ้าหนี้ 276 ราย มูลหนี้ 13.016 ล้านบาท 
  4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 428 ราย เจ้าหนี้ 323 ราย มูลหนี้ 17.812 ล้านบาท 
  5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 464 ราย เจ้าหนี้ 337 ราย มูลหนี้ 23.397 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า “สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 15,005 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,470 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,533.276 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 899.495 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 633.781 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,037 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 183 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 236.102 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 13.702 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 222.400 ล้านบาท 

สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 158 คดี ใน 30 จังหวัด

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง 

รวมทั้ง ให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด และให้ทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT