การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนหลายๆ คนกำลังจับตามองอยู่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยแคนดิเดตจากพรรคนี้อย่าง นาย เศรษฐา ทวีสิน จะทำได้จริงอย่างที่หาเสียงได้หรือไม่ เพราะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรง และเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายถกเถียงมานานแล้วว่าโตไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ
ล่าสุด นาย เศรษฐา ได้ออกมาให้ความคืบหน้าและความชัดเจนในเรื่องนี้บ้างแล้วในการเสวนาหัวข้อ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” ในงานเสวนา "Thairath Forum 2023" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยเผยว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2567
ถ้าหากทำได้จริง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มค่าแรงขึ้นถึง 46 บาท ในครั้งเดียว สูงสุดในรอบ 12 ปี จากปี 2011 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาท/วัน ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำของไทยถูกปรับเพิ่มในหลักสิบหลักหน่วยมาตลอด ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยดีขึ้นแค่อย่างใด โดยเฉพาะแรงงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงชวนมาดูการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีขนาดและพัฒนาการทางเศรษฐกิจพอๆ หรือมากกว่าไทยเล็กน้อยกันว่าเป็นอย่างไร และเพียงพอหรือไม่
ชีวิตประจำวันของเราต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และอื่นๆ ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนควรจะถูกปรับขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และทันต่อระดับเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีผู้กังวลอยู่เสมอว่า การเพิ่มค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ขึ้นราคาของ ทำให้ของเฟ้อขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทใหญ่ๆ ลดลง รวมไปถึงทำให้ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่อาจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยลดลงไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง การเพิ่มค่าแรงในแต่ละครั้ง จึงจะต้องทำควบคู่ไปกับพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ภาคเอกชนไทยมีศักยภาพในทำกำไร รวมถึงมีศักยภาพในการเจาะอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง แน่นอนว่าจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในอนาคตให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งไทยก็กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่จากการส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงขั้นต่ำของไทยกลับโตไม่ทัน และขึ้นเป็นระดับหลักสิบหลักหน่วยเท่านั้น และไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในไทย โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพมหานคร ที่ราคาสินค้าจำเป็นขึ้นเร็วกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาก
โดยตั้งแต่ปี 2013 ไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 4 ครั้ง คือในปี 2017, 2018, 2020 และ 2022 โดยในปี 2017 มีการปรับจากอัตรา 300 บาท/วัน เท่ากันทุกประเทศ มาเป็นแบบขั้นตามพื้นที่ อัตราค่าแรงขั้นต่ำหลังจากมีการปรับในแต่ละปีสามารถแจกแจงได้ดังนี้
ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง ไทยยังใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เปลี่ยนแปลงในปี 2022 โดยสามารถแบ่งอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้ตามพื้นที่ ดังนี้
จะเห็นได้ว่า หลังมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดให้เป็น 400 บาท/วันแล้ว จังหวัดที่ได้รับอัตรานี้อาจจะเป็นเพียงจังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ก็อาจทำให้เป็นผลดี เพราะ จังหวัดที่ค่าแรงยังต่ำกว่าจังหวัดอื่นอาจจะได้เปรียบมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุน ให้บริษัทตั้งๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิต
หลังจากดูการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยแบบเดี่ยวๆ แล้ว มาดูเพื่อนบ้านที่มีสภาพเศรษฐกิจคล้ายๆ เรากันบ้างว่าเป็นอย่างไร โดยในบทความนี้เลือกมา 3 ประเทศคือ เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้
จากข้อมูลในอินโฟกราฟฟิกจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำของ ‘เวียดนาม’ จะยังต่ำกว่าไทย ก็มีการค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยในปี 2013-2022 ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 99% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไทยที่เพิ่งขึ้นเพียง 30% ทั้งที่ค่าครองชีพของไทยสูงกว่าเวียดนาม ขณะที่ ‘มาเลเซีย’ ที่ค่าครองชีพพอๆ กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากที่น้อยกว่าไทยจนปัจจุบันสูงกว่าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนทางด้านของ ‘เกาหลีใต้’ ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจแซงเราไปในช่วงปี 1990s และ 2000s ถึงแม้จะเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดจากภาวะสงคราม มีระดับค่าแรงสูงกว่าประเทศแถบอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด โดยในปัจจุบันมีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ 9,620 วอน/ชั่วโมง 76,960 วอน/วัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง) หรือราว 2,080 บาท/วัน มากกว่าไทยประมาณเกือบ 6 เท่า หรือราว 487%
ความแตกต่างนี้ถึงแม้จะอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่าเกาหลีใต้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทย แต่เมื่อดูสถิติจาก Nambeo ฐานข้อมูลรวบรวมราคาสินค้าและระดับค่าครองชีพทั่วโลก ค่าครองชีพของกรุงเทพต่ำกว่าโซลเพียง 41.6% ทำให้ไม่สอดคล้องกับค่าแรงเราที่ต่ำกว่าค่าแรงของแรงงานในเกาหลีใต้มาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุว่า ทำไมคนไทยจึงนิยมไปทำงานที่เกาหลีหรือเป็นผีน้อย เพราะถึงแม้จะเป็นค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ก็มากพอแล้วจะให้ตัวเองและครอบครัวในไทยลืมตาอ้าปากได้
ดังนั้น ปัญหาค่าแรงจึงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขหากต้องการลดปัญหาแรงงานต่างด้าว และดึงแรงงานไทยให้ยังอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัวแล้ว ทำให้หากแรงงานไทยทั้งระดับสูงและระดับล่างยังหลั่งไหลไปทำงานนอกประเทศอยู่ ไทยก็จะเสียเปรียบมากในการขยายและพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกขั้น ไทยควรเลิกวางภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นแหล่งแรงงานราคาถูก เพราะการหวังพึ่งเงินลงทุนถูกๆ จากต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียวไม่ส่งผลดีกับประเทศในระยะยาว แต่ควรเร่งสร้างเทคโนโลยี สินค้า และบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือด้านวัฒนธรรม เพื่อที่ไทยจะได้มีโอกาสแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
อ้างอิง: Trading Economics, Nambeo