สินทรัพย์ดิจิทัล

กลต.จ่อคุม digital wallet ต้องมีไลเซ่น คุ้มครองผู้ลงทุน เริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ไตรมาส 1-2/65

2 ธ.ค. 64
กลต.จ่อคุม digital wallet  ต้องมีไลเซ่น คุ้มครองผู้ลงทุน เริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ไตรมาส 1-2/65

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับทีมงาน "SPOTLIGHT" ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมประกาศออกเกณฑ์ควบคุมผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ในไทยต้องได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจจากสำหนักงาน ก.ล.ต.

ทั้งนี้คาดว่าในส่วนของใบอนุญาตในการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider)จะมีผลใช้บังคับเมื่อกระทรวงการคลังประกาศภายในไตรมาส 2 ของปี 2565 ป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการกระทำความผิด และคุ้มครองผู้ลงทุน

สำหรับการใบอนุญาตการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ในไทยได้ต้องได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจจากสำหนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะมีผลใช้บังคับภายในไตรมาส 1 ของปี 2565

ทั้งนี้ที่มาแนวคิดที่จะกำหนดให้ผู้ให้บริการ DA custodial wallet provider เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาตและกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนของการทำหน้าที่ wallet provider ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการกระทำความผิด

เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามแนวทางรูปแบบการกำกับดูแลในต่างประเทศที่เป็นรูปแบบมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการของไทยให้เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ โดยเป้าหมายเพื่อเงินทรัพย์ที่มีหมุนเวียนถูกเก็บไว้ในประเทศไทยเพื่อการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัย

อีกทั้งเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน และเพื่อให้สำนักงานมีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม ไม่ให้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดหรือเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและยึดอายัดทรัพย์สินของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

อย่างไรก็ดีการออกเกณฑ์คุม DA custodial wallet provider กับ wallet ไม่ได้มีสาเหตุจากที่มีกรณีลูกค้าของ Digital Exchange บางแห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ถูกขโมยเหรียญออกจากบัญชีตนเองไปยังบัญชีอื่น แต่เป็นการดำเนินการคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบหลักการในการกำกับดูแลเรื่องการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าสำหรับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ปัจจุบันผู้ประกอบที่ดำเนินธุรกิจตัวกลางประกอบด้วยศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) กับนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล(Broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีการรับฝาก สินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่มีมูลค่าไม่ถึง 15 ล้านบาท สามารถเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเองได้ แต่หากมีมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าฝากไว้ส่วนใหญ่ไปฝากกับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset custodian) ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการดังกล่าวและไม่มีเกณฑ์การให้ใบอนุญาต digital asset custodian ในไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องไปใช้บริการจากผู้ให้บริการในต่างประเทศ และทำให้การกำกับดูแลยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ทั้งนี้ DA custodial wallet provider คือ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่ โดยหมายถึง บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝาก / เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้บริการ / บริหาร จัดการกุญแจที่เข้ารหัส (cryptographic key) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือบางส่วนในการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า โดยกระทำเป็นทางการค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น

ดังนั้น ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าดังกล่าวข้างต้น ตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบธุรกิจและบุคคลทั่วไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1.กำหนดให้ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อนการให้บริการ โดยต้องมีคุณสมบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด


2.กำหนดให้ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตและมีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าต้องมีระบบการจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet management) และการบริหารจัดการกุญแจเข้ารหัส (key management) เพื่อการจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ผู้ใช้บริการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในการระบุตัวตนเจ้าของบัญชี

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบหลักการในการกำกับดูแลเรื่องการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าสำหรับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT