ธุรกิจการตลาด

‘Oppenheimer’ นาซีเยอรมัน ‘สมองไหล’ ระเบิดปรมาณู และการพ่ายสงคราม

26 ก.ค. 66
 ‘Oppenheimer’ นาซีเยอรมัน ‘สมองไหล’ ระเบิดปรมาณู และการพ่ายสงคราม

‘Oppenheimer’ ภาพยนตร์ชีวประวัติของ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ J. Robert Oppenheimer ซึ่งนอกจากจะถูกยกย่องในด้านความงดงามของภาพและเสียง ความสามารถของนักแสดงและผู้กำกับ รวมถึงความเที่ยงตรงของเนื้อหาประวัติศาสตร์ Oppenheimer ยังชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์ ‘สมองไหล’ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การกวาดล้างชาวยิวบนภาคพื้นทวีปยุโรป ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื้อสายยิวหนีตายไปยังประเทศอื่นรวมถึง ‘สหรัฐอเมริกา’

 

 

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การพลิกกลับมาชนะสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร จากที่สหรัฐสามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จ ด้วยองค์ความรู้ของนักฟิสิกส์เชื้อสายยิวคนสำคัญหลายคน ที่ลี้ภัยมาจากยุโรป ทำให้สหรัฐสามารถทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิม่า และนางาซากิ ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงได้ ไม่เพียงเท่านั้น หัวกะทิสายเลือดยิวเหล่านี้ยังได้สร้างคุณูปการให้กับหลากหลายวงการทั้งฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ จิตวิทยา การเมือง ฯลฯ ทิ้งมรดกไว้จนมาถึงทุกวันนี้

Spotlight หยิบยก ‘ปรากฏการณ์สมองไหล’ ที่ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ร่วมยุคกับภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมชวนมองกลับมายังประเทศไทย และประเทศใกล้ๆ บ้าน ในยามที่ประเทศเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เราจะมีแรงงานหนุ่มสาวเพียงพอเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจริงๆ หรือไม่?

 


Oppenheimer ระเบิด

 

สมองไหลในยุคสงครามโลก : สมองไหล พลิกเกมสงครามโลก

 

ความเกลียดชังคนยิวของนาซีเยอรมัน โดยเฉพาะ ‘Adolf Hitler’ ผู้นำของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาจมีที่มาจากทั้งความเชื่อทางศาสนา , โฆษณาชวนเชื่อที่ว่าชาวยิวเป็นสาเหตุที่ทำให้เยอรมนีพ่ายสงครามโลกครั้งที่ 1 และเศรษฐกิจย่ำแย่ รวมถึงความเชื่อเรื่อง ‘อารยัน’ หรือชาวยุโรปที่มีเลือดบริสุทธิ์สูงส่งกว่าเชื้อสายอื่น โดยเฉพาะชาวยิว จึงทำให้นาซีเยอรมันเริ่มใช้มาตรการกีดกันเชื้อชาติระหว่างคนเยอรมัน กับคนยิวตั้งแต่ช่วงกลางปี 1930 ราว 9 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ยาวยิวบางส่วนได้เริ่มลี้ภัยออกไปยังประเทศต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ Albert Einstein นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อก้องโลกที่หลบหนีไปยังสหรัฐตั้งแต่ปี 1933

มาตรการดังกล่าวเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่การ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของชาวยิวทั้งโลก และ 2 ใน 3 ของชาวยิวทั่วยุโรป ส่วนชาวยิวที่เหลือรอดหนีตายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา

 

Oppenheimer Einstein



อันที่จริง นาซีเยอรมันได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาระเบิดปรมาณู หรือระเบิดนิวเคลียร์ก่อนหน้าสหรัฐอเมริกา โดยในปี 1938 Otto Hahn และ Fritz Strassmann ค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น (การแตกตัวของอะตอมของ ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ กลายเป็นธาตุใหม่ และพลังงานมหาศาล) และได้ต่อยอดเป็นโครงการสร้างระเบิดปรมาณูขึ้น แต่ในปี 1939 หลังจากที่ Einstein ได้ทราบข่าวดังกล่าว จากนักฟิสิกส์ชาวฮังกาเรียนอีกคน Leo Szilard จึงได้รีบเขียนจดหมายถึง Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อเตือนถึงความน่ากลัวที่จะเกิดขึ้นหาก Hitler สร้างระเบิดปรมาณูได้จริง และเร่งให้สหรัฐรีบลงมือก่อนจะสาย

แม้จะเริ่มการพัฒนาห่างกันเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ฝั่งสหรัฐนั้นได้เปรียบในแง่ที่ว่ามีมันสมองจากนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวที่ลี้ภัยมา ได้เข้าร่วมโครงการทั้งทางตรง คือ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘โปรเจกต์แมนฮัตตัน’ พัฒนาระเบิดปรมาณู และทางอ้อม คือ พัฒนาวิทยาการ และองค์ความรู้เพื่อให้การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้งานได้จริง ทำให้สหรัฐอเมริกาและฝั่งสัมพันธมิตรกุมชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการกำราบจักรวรรดิญี่ปุ่น ฝ่ายอักษะประเทศสุดท้าย นำไปสู่การ ลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการสิ้นสุดลงของ สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

 

 

Oppenheimer สงคราม
 

 
สมองไหลในยุคสงครามโลก : องค์ความรู้จากเยอรมนีไหลออกสู่สหรัฐ และประเทศต่างๆ ในโลก

 

นอกจาก ‘ระเบิดปรมาณู’ ดังที่ได้เห็นในภาพยนตร์เรื่อง ‘Oppenheimer’ แล้ว เหล่ามันสมองจากประเทศเยอรมนีที่หลั่งไหลออกนอกประเทศในช่วงการกวาดล้างชาวยิว ยังได้ไปสร้างคุณูปการให้กับสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศที่พวกเขาได้อพยพเข้าไปอยู่ อาทิ

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : มีนักวิทยาศาสตร์ทั้งที่มีเชื้อสายยิว และไม่มีเชื้อสายยิวมากมายที่จำต้องหนีตายจากนาซีเยอรมนีไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป หรือสหรัฐ ทั้งนักฟิสิกส์ เช่น Albert Einstein, Neil Bohr, Enrico Fermi นักฟิสิกส์และชีววิทยา Max Delbrück นักคณิตศาสตร์ Kurt Gödel และอีกมากมาย แม้แต่ Max Born อาจารย์ที่ปรึกษาของ Oppenheimer สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Göttingen ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องอพยพมายังสหรัฐ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิทยาการของสหรัฐก้าวหน้าทั้งในช่วงที่พวกเขามีชีวิตอยู่ และสิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นใหม่สานต่อ

ด้านการศึกษา : การที่นักวิทยาศาสตร์ นักคิดของเยอรมนีลี้ภัยมายังสหรัฐนั้น มักจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่มาช่วยพัฒนาให้แวดวงการศึกษา วิจัย และเทคโนโลยีของสหรัฐเจริญก้าวหน้า อีกทั้งยังทิ้งองค์ความรู้ ผลงาน และแรงบันดาลใจไว้ให้นักเรียน นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักคิดรุ่นต่อๆ ไป

 

 

Sigmund Freud สงครามโลก



ด้านจิตวิทยา : บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในทุกวงการ ‘Sigmund Freud’ ผู้นี้ คือหนึ่งในมันสมอเชื้อสายยิวผู้ลี้ภัยในช่วงที่สงครามกำลังก่อตัว แต่เป็นช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา หลังจากที่ได้ต่อสู้ทำงานวิจัยภายใต้แรงกดดันของสงครามมาหลายปี เขาได้อพยพจากเวียนนามายังลอนดอน ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกราชสมาคมแพทย์แห่งลอนดอน ภายหลังการเสียชีวิตของเขา ทำให้แนวคิดจิตวิเคราะห์แพร่หลายในวงการอย่างกว้างขวาง

ด้านวัฒนธรรม : สหรัฐ อิมพอร์ตทั้งนักคิดคนเก่งอย่าง Ernst Cassirer (นักปรัชญาด้านภาษาและวัฒนธรรม), Hannah Arendt (นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมือง), Theodor Adorno (นักปรัชญา นักสังคมวิทยา และนักทฤษฎีดนตรี) แนวความคิดด้านวัฒนธรรมจากฝั่งยุโรป รวมไปถึงมรดกด้านวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับผู้อพยพจากยุโรป ส่งเสริมให้สหรัฐมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมมากขึ้น มีองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่ทั้งลึกซึ้ง และหลากหลายมากขึ้น

 

Oppenheimer



สมองไหลในยุคปัจจุบัน : ส่องปัญหาสมองไหลใกล้บ้านเรา

 

แม้ตอนนี้จะผ่านจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นฉากหลังสำคัญของเรื่อง Oppenheimer มานานกว่า 80 ปีแล้ว แต่ปัญหาเรื่อง ‘สมองไหล’ ก็ยังคงมีให้เห็นบ่อยครั้งในหลายประเทศ อย่างเช่น 2 ประเทศที่อยู่ไม่ไกลบ้านเราอย่าง ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

ประเทศไต้หวันประสบปัญหาสมองไหลอย่างหนักในช่วงปี 1960 - 1980 จากการที่นักศึกษาเดิยทางไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก แต่มีเพียง 10 - 20% เท่านั้นที่เดินทางกลับไปพัฒนาประเทศบ้านเกิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งกับประเทศจีน และการอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งประกาศใช้ยาวนานถึง 38 ปี รวมถึงการปกครองอย่างเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งการเมืองในสมัยนั้นต่างกีดกันเสรีภาพทางวิชาการ นักวิจัย และนักวิชาการที่วิจารณ์รัฐบาล

จนทำให้หลังปี 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ต้องออกมาตรการเพื่อหวังให้ ‘สมองไหลกลับ’ เข้าประเทศ โดยการออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับไต้หวันฟรี ให้ความช่วยเหลือในการหางาน เสนอเงินค่าที่อยู่อาศัย ขึ้นเงินเดือน สัญญาเงินกู้ หรือเสนอสัญญาให้ทุนวิจัย แก่ข้าราชการ หรือนักวิชาการที่มีศักยภาพ

ส่วนประเทศฟิลิปปินส์นั้นประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เนื่องจากไหลออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อันมีสาเหตุมาจากสมัยที่ประเทศยัง ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมสหรัฐฯ ได้มีโปรแกรมส่งพยาบาลไปเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และหลักสูตรพยาบาลต่อเนื่อง รวมถึงหลังการประกาศอิสรภาพในทศวรรษ 1950 และ 1960 สหรัฐฯ ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนพยาบาล ทำให้เกิดความต้องการย้ายไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และได้เงินสูงกว่าการทำงานในประเทศถึงเกือบ 10 เท่า

ปัญหาดังกล่าวกระทบระบบสาธารณสุขของฟิลิปปินส์เอง ซึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟิลิปปินส์ ระบุว่าทั่วประเทศขาดแคลนพยาบาลประมาณ 23,000 คน ซึ่งสถานการณ์รุนแรงมากจนชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เสียชีวิตโดยไม่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในสหรัฐฯ กลับมีพยาบาลชาวฟิลิปปินส์มากถึงประมาณ 150,000 คน

 

สมองไหล

 

สมองไหลในยุคปัจจุบัน : ประเทศไทยจะสมองไหลหรือไม่?

 

คำตอบ คือ ไม่แน่



หากถามว่าปัจจัยใดที่จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่อาจตัดสินใจย้ายรกรากไปหาโอกาสทำกินในประเทศอื่น รวมถึงข้อจำกัดที่อาจทำให้คนไทยไม่อยากทำงานในประเทศ อาจเป็นด้วยเหตุผลดังนี้

 

ความไม่สงบของสถานการณ์ในประเทศ

 

แม้ไทยจะไม่ได้มีการสู้รบเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ แต่สถานการณ์การเมืองภายในที่ขัดแย้งแบ่งสีมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ก็สร้างความเบื่อหน่ายให้กับคนในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เรายังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เกือบ 2 เดือนครึ่งแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า เราจะได้รัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ และเกมการเมืองก็ดูพลิกขั้วสลับข้างได้ตลอดเวลา ยากที่จะวางใจได้ และหากการเมืองมีการเปลี่ยนขั้วจริง ก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และกลับไปสู่วังวนเดิมๆ จนทำให้หลายคนถอดใจ และอยากย้ายประเทศหนี

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ใน กลุ่ม Facebook และได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ
อาทิเช่น

  • โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย (สมาชิก 1.1 ล้านคน)

  • โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย V2 (สมาชิก 2.9 แสนคน)

  • เพจ มาย้ายประเทศกันเถอะ ฯลฯ


นับว่า เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก หากสถานการณ์การเมืองไทยยังอยู่ในภาวะเหมือน “เรือลอยอยู่กลางทะเลท่ามกลางพายุ”

ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพาตัวเองไปอยู่ในประเทศที่มีระบบการเมือง สวัสดิการรัฐ และโอกาสที่ตอบโจทย์มากกว่าประเทศบ้านเกิด

 

ไทย สมองไหล

 

สภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ

 

ต่อให้ปัญหาการเมืองสงบเรียบร้อย แต่หากความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ดี ประชาชนก็มักจะออกมาเรียกร้องดังที่เห็นได้จากการรณรงค์หรือประท้วงของนานาประเทศ รวมไปถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจของตัวเอง ขนาดว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอง ยังประสบปัญหาจากข้อจำกัด และการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนามื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ล้ำหน้ากว่า จุดนี้ทำให้ธุรกิจเจ้าเล็ก หรือ Startups ไทยติดอาวุธสู้กับชาติอื่นได้ยาก และหากสายป่านสั้น ก็มักจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน หลายคนจึงบอกว่า ทำธุรกิจไทย ถ้าให้ดีต้องโตเมืองนอกก่อน แล้วจะมาขายในประเทศได้ง่ายขึ้น นี่จึงทำให้หลายอดคิดไม่ได้ว่า แล้วทำไมไม่ไปตั้งต้นธุรกิจในประเทศที่รัฐสนับสนุนและระดมทุนได้ง่ายกว่าเสียเลย?

 

แนวคิดการเป็น Global Citizen

 

แนวคิดของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Gen Y เป็นต้นไป มองว่า พวกเขาคือ ‘Global Citizen’ ไม่ถูกยึดติดกับข้อจำกัดทางด้านขอบเขตพรมแดน หรือทักษะทางภาษา เพราะการทำตัวให้มีประโยชน์ หรือการสร้างความสำเร็จให้ชีวิต สามารถเป็นการ ‘ทำเพื่อโลก’ ได้
โดยไม่ต้องติดกับกรอบคำว่า ‘ทำเพื่อชาติ’ จึงทำให้สามารถหาช่องทางการออกไปเรียนต่อ ทำงานและลงหลักปักฐานในต่างแดนได้ และยิ่งบริษัทระดับโลกยุคใหม่บางแห่งไม่มีนโยบายให้พนักงานเข้าออฟฟิศตลอด คนรุ่นใหม่บางส่วนจึงอาจใช่ชีวิตเป็น ‘Digital Nomad’ ได้ทั้งเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน

 

ในอนาคตที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยหนุ่มสาวที่สามารถทำงานได้นั้น หากประเทศยังเกิดปัญหา ‘สมองไหล’ ที่คนเก่งหนีออกไปแสวงหาโอกาสในประเทศอื่นๆ อีก ทำให้ไทยขาดแรงงานผู้เชี่ยวชาญ ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งภัยเงียบที่ว่านี้ อาจกำลังเกิดขึ้นจริงแล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็เป็นได้

 

สมองไหล Brain Drain

 

‘คนรุ่นใหม่’ จึงถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติ ที่ควรได้รับการดูแลที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เพื่อรักษาให้มันสมองยังคงอยู่กับประเทศไทย และไม่ประสบปัญหาสมองไหลเหมือนกับตัวอย่างที่ได้กล่าวมา

 

 ที่มา : AboutholocaustInstitute for the Study of Labor , H-Net Reviews, USHMM, OSTI, The Matter

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT