ธุรกิจการตลาด

‘Lineman Wongnai’ จ่อ IPO ในปี 2025 ชี้อาจเป็นตลาดหุ้นไทย หรือ สหรัฐฯ มุ่งพัฒนาเป็นยิ่งกว่าซุปเปอร์แอปฯ

10 พ.ค. 67
‘Lineman Wongnai’ จ่อ IPO ในปี 2025 ชี้อาจเป็นตลาดหุ้นไทย หรือ สหรัฐฯ มุ่งพัฒนาเป็นยิ่งกว่าซุปเปอร์แอปฯ

ไลน์แมนวงใน (Lineman Wongnai) เตรียมขายหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2025 ชี้อาจเป็นตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือสหรัฐฯ มุ่งขยายธุรกิจ พัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นยิ่งกว่า SuperApp ที่มีบริการครบวงจรอย่าง GrabFood และ GoTo

ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งไลน์แมนวงใน ได้ให้สัมภาษณ์กับ TechCrunch สื่อต่างประเทศด้านเทคโนโลยีว่า ไลน์แมน ตั้งใจที่จะเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนและจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างแน่ชัดว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือจดทะเบียนในทั้งสองตลาดเป็น dual-listing

ปัจจุบัน ไลน์แมนวงในมีมูลค่าตลาดถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36,000 ล้านบาท และเคยระดมทุนได้แล้วรวม 372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13,600 ล้านบาท จากผู้ลงทุนหลักคือ กองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ (GIC) และ Z Holdings ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SoftBank และ Naver บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตจากเกาหลีใต้ รวมไปถึง BRV Asia

คุณยอด กล่าวว่า ปัจจุบัน แผนธุรกิจของไลน์แมนวงในคือการขยายและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก่อนเปิดขายหุ้นไอพีโออย่างเป็นทางการ และยังจะพิจารณาถึงโครงสร้างเงินทุน ความต้องการทางการเงิน รวมไปถึงช่องทางการระดมทุนทางอื่นด้วย

 

มุ่งเป็นยิ่งกว่าซุปเปอร์แอป ตีตลาดนอกบริการส่งอาหาร

จากข้อมูลของ Statista ตลาดบริการส่งอาหารในไทยมีผู้เล่นหลายเจ้า นำโดย GrabFood ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาด 56% ขณะที่ Lineman Wongnai ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 53% และ Shopee และ Robinhood ตามมาเป็นอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

หากมองจากสถิตินี้ Lineman Wongnai ถือว่าประสบความสำเร็จในการตีตลาดบริการส่งอาหาร เพราะลงมาเป็นผู้เล่นในธุรกิจนี้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะจุดเด่นของไลน์แมนที่เป็นการผสานกำลังกันระหว่างแอปพลิเคชั่นไลน์ที่เป็นแอปฯ แชทอันดับ 1 ของคนไทย และแพลตฟอร์มรีวิวอาหาร ที่ทำให้ไลน์แมนมีทั้งฐานผู้ใช้ที่ใหญ่ และฐานข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค และร้านค้า

ทั้งนี้ ไลน์แมนไม่ได้มีแผนที่จะหยุดที่การเป็นแอปฯ สั่งอาหารเพียงเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าที่จะกลายเป็นแอปพลิเคชั่นผู้ให้บริการชั้นนำในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งบริการส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการรับส่ง เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และเป็นบริการที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคปัจจุบัน 

โดยจากข้อมูลของ Statista พบว่า ปัจจุบัน คนไทยนิยมสั่งอาหารทางแอปฯ ประมาณ 27.14% นิยมสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปฯ ประมาณ 17.34% และเรียกรถรับส่งผ่านแอปฯ ประมาณ 19.8%

นอกจากนี้ ไลน์แมนยังตั้งเป้าจะขยายบริการอื่นๆ เช่น บริการชำระเงิน บริการ POS สำหรับร้านค้า มองหาโอกาสเชิงกลยุทธ์ในการร่วมทำธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ที่น่าสนใจ รวมไปถึงลงทุนในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยไลน์แมนพัฒนาปรับปรุงธุรกิจและบริการได้ดีขึ้น เช่น AI และการทำ Big Data

คุณยอดกล่าวว่า การขยายธุรกิจของไลน์แมนในอนาคตจะไม่เพียงทำให้ไลน์แมนกลายเป็นซุปเปอร์แอปอย่างที่ Grab และ GoTo เป็นเท่านั้น แต่ยังจะพัฒนาไปเหนือกว่านั้น เพราะในอนาคตไลน์แมนจะไม่ใช่แอปฯ สำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับร้านค้าด้วย เหมือนส่วนผสมระหว่าง Meituan และ WeChat Pay ของจีน

ทั้งนี้ ปัจจุบันไลน์แมนยังจะโฟกัสกับการทำธุรกิจในไทยเป็นหลักอยู่ และไม่ได้ตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปในประเทศอื่นก่อนที่จะมีการเปิดขายหุ้นไอพีโอในปี 2025

 

 

ที่มา : Techcrunch




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT