ธุรกิจการตลาด

ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

6 มี.ค. 67
ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก  MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

ท่ามกลางสมรภูมิเดือดของธุรกิจสุกี้หม้อไฟ ร้านสุกี้ทั้งเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดส่งผลให้ตลาดสุกี้ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.5-2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง MK แบรนด์สุกี้เจ้าตำรับ ครองบัลลังก์ผู้นำตลาดมายาวนานกว่า 37 ปี ด้วยจำนวนสาขาและรายได้ที่ทิ้งห่างคู่แข่ง แต่บัลลังก์ที่มั่นคงของ MK กำลังสั่นคลอนจากการมาถึงของ สุกี้ตี๋น้อย ผู้ท้าชิงที่หายใจรดต้นคอ กลยุทธ์อะไรที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตอย่างมั่นคง และก้าวขึ้นมาท้าทายตำแหน่งเจ้าตลาดจาก MK? เดี๋ยววันนี้ Spotlight จะพาไปดู

 

ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก  MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

สุกี้ตี๋น้อยโตแรงกว่า 54%  ฟันกำไร 913 ล้านบาท

บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2566 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 5,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% และมีกำไรสุทธิ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  สำหรับโดยกลยุทธ์แห่งความสำเร็จ ที่ทำให้ สุกี้ตี๋น้อย  ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิง เจ้าตลาดอย่าง  MK สุกี้ แบบเต็มตัว

 

ปัจจัยอะไรทำให้  สุกี้ตี๋น้อย ทำกำไรกว่า  900 ล้านบาท

ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก  MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

สุกี้ตี๋น้อย สร้างปรากฏการณ์ในวงการร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ด้วยจุดเด่นเรื่อง "ราคา" ที่เข้าถึงได้ง่าย ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จนี้ กลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง คือ การมองธุรกิจแบบ Outside-In ที่ให้ความสำคัญกับ "ลูกค้า" เป็นหัวใจสำคัญ ปรัชญา "ลูกค้าคือศูนย์กลาง" ถูกนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้น สุกี้ตี๋น้อยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า "ลูกค้าต้องการอะไร" อะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึก "คุ้มค่า" กับเงินที่จ่ายไป ไม่รู้สึกถูกเอาเปรียบ และอยากกลับมารับประทาน "ซ้ำ" อีก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ร้านอาหารสุกี้ที่มีบรรยากาศสบายๆ บริการเป็นกันเอง วัตถุดิบสดใหม่ น้ำจิ้มรสเด็ด ราคาที่ย่อมเยา

ส่วนที่แตกต่างอีกอย่างคือเวลาการให้บริการ ที่ต่างจากคู่แข่ง โดยเลือกเปิด  11.00 - 05.00 น.เนื่องจากร้าน สุกี้ตี๋น้อย ส่วมใหญ่จะเป็นร้าน Stand Alone จึงสามารถเปิด-ปิดเวลาไหนก็ได้ต่างจากอีกเจ้าที่จะอยู่ในห้างเป็นหลักทำให้มีเวลาเปิดปิดจำกัด และที่ไม่ชมไม่ได้คือ สุกี้ตี๋น้อย เลือกทำเลตั้งร้านเก่งรู้ว่าโซนไหนจะมีลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นเปิดดึงเเค่ไหนร้านก็มีลูกค้าตลอดเวลา

ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ล้วนสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า กระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ และสร้างฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น

 

มุ่งมั่นขยายสาขา และเปิดตัวแบรนด์ใหม่

ปี 2566 สุกี้ตี๋น้อยเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ "มุ่งมั่นขยายสาขา และเปิดตัวแบรนด์ใหม่" โดยเปิดเพิ่ม 12 สาขา มุ่งสู่ตลาดต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และนครราชสีมา กลยุทธ์นี้ช่วยขยายฐานลูกค้า เพิ่มโอกาสการเข้าถึง และสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง ส่งผลดีต่อผลประกอบการอย่างเห็นได้ชัด  ปัจจุบัน มีร้านสุกี้ตี๋น้อย 57 สาขา และในปี 2567 มีแผนขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้น เน้นภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และ อุดรธานี แสดงให้เห็นถึง แผนการขยายธุรกิจ

นอกจากนี้ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ได้รับกำไรจากการถือหุ้น 30% ในสุกี้ตี๋น้อย คิดเป็นเงิน 274 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึง ศักยภาพ ของสุกี้ตี๋น้อย ในฐานะธุรกิจที่ เติบโต อย่าง มั่นคง หากคิดเป็นตัวเลข 100% หมายความว่า สุกี้ตี๋น้อย มีกำไรปี 2566 อยู่ที่ 913 ล้านบาท  ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึง ประสิทธิภาพ ของ กลยุทธ์ และ การบริหารจัดการ ของสุกี้ตี๋น้อย

ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี ของสุกี้ตี๋น้อย 

  • ปี 2562: รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
  • ปี 2563: รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
  • ปี 2564: รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 147 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 5,244 ล้านบาท กำไร 913 ล้านบาท



MK สุกี้ เริ่มฟื้นตัว! รายได้ปี 2566 ทะลุ 16,000 ล้าน กำไรพุ่ง 16.9% 

 ตี๋น้อยโตแรง ท้าชิงบัลลังก์สุกี้จาก  MK เจ้าตลาดสุกี้หม้อไฟไทย

จากรายงานผลประกอบการประจำปี 2566 ของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของ MK สุกี้ ที่สร้างความฮือฮาด้วยรายได้จากการขายและบริการที่พุ่งสูงถึง 16,661 ล้านบาท เติบโต 5.9% จากปี 2565 และกำไรสุทธิ 1,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% จากปีก่อนหน้า

 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ MK สุกี้ กลับมาปังอีกครั้ง?

สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ กล้าที่จะออกไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น บวกกับคนไทยนิยมทานอาหารในร้านมากขึ้น นอกจากนี้อีกสาเหตุสำคัญคือ ต้นทุนลดลง วัตถุดิบบางชนิดมีแนวโน้มราคาลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 รวมถึงบริษัทฯ มีกำรปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ และ สัดส่วนการทานที่ร้านที่เพิ่มขึ้น  ส่งผลให้ กำไรสุทธิ ปรับตัวสูงขึ้น  เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของการทานที่ร้านนั้นสูงกว่าแบบดิลิเวอรี สำหรับสัดส่วนรายได้ แบ่งตามช่องทางการขาย ดังนี้

  • ทานในร้าน: 85% (เพิ่มขึ้นจาก 80% ในปี 2565)
  • ดิลิเวอรี: 9% (ลดลงจาก 13% ในปี 2565)
  • ซื้อกลับบ้าน: 6% (ลดลงจาก 7% ในปี 2565)

ปัจจุบัน  บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้งหมดกว่า 10 แบรนด์  โดย MK สุกี้  ยังคงเป็น แบรนด์หลัก  ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุด คิดเป็น 75% ของรายได้รวม (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ร้านเอ็มเค สุกี้ มีจำนวนทั้งหมด 448 สาขาทั่วประเทศ) รองลงมาคือ ยาโยอิ (18%)  แหลมเจริญซีฟู้ด (6%)  และ อื่นๆ (1%)  

ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปีของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

  • ปี 2562 รายได้ 17,871 ล้านบาท กำไร 2,604 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 13,655 ล้านบาท กำไร 907 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้านบาท กำไร 131 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 15,938 ล้านบาท กำไร 1,439 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 16,974 ล้านบาท กำไร 1,682 ล้านบาท

อนาคตของตลาดสุกี้จะเป็นอย่างไร? MK จะรักษาบัลลังก์ผู้นำไว้ได้หรือไม่? หรือตี๋น้อยจะขึ้นเป็นเจ้าตลาดคนใหม่? การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของทั้งสองแบรนด์และผู้บริโภคอย่างเราจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากสงครามราคาและคุณภาพในครั้งนี้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT