ปี 2565ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของภาครัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ตลอดจนสถานการณ์ของ COVID-19 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศของภาครัฐ รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ มีส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ดียิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่นๆที่ส่งผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นปัญหาการขาดแคลน เซมิคอนดัคเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบกับภาคการผลิตในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆจากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
แต่ในภาพรวมแล้วยังถือว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศด้วยเช่นกันโดยตัวเลขยอดขายรวมภายในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2565 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2566 ดังต่อไปนี้
สถิติการขายรถยนต์ในปี 2565
สถิติการขายรถยนต์ในปี 2565 เทียบกับปี 2564
- ปริมาณการขายรวม 849,388 คัน +11.9%
- รถยนต์นั่ง 265,069 คัน +5.3%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 584,319 คัน +15.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 454,875 คัน +15.6%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 388,298 คัน +13.7%
อันดับ 3 แบรนด์ที่ขายดีในป 2565
อันดับที่ 1 โตโยต้า จำนวน 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5 % ส่วนแบ่งตลาด 34.0%
อันดับที่ 2 อีซูซุ จำนวน 212,491 คัน เพิ่มขึ้น 15.4% ส่วนแบ่งตลาด 25.0%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า จำนวน 82,842 คัน ลดลง 6.6% ส่วนแบ่งตลาด 9.8%
ทั้งนี้หากจำแนกเป็นรถยนต์ประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 24,698 คัน ลดลง 22.6%
อันดับที่ 1 โตโยต้า จำนวน 8,941 คัน เพิ่มขึ้น 21.7 % ส่วนแบ่งตลาด 36.2%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า จำนวน 5,786 คัน ลดลง 34.0% ส่วนแบ่งตลาด 23.4%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ จำนวน 1,824 คัน ลดลง 26.6% ส่วนแบ่งตลาด 7.4%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 584,319 คัน เพิ่มขึ้น 2%
อันดับที่ 1 อีซูซุ จำนวน 212,491 คัน เพิ่มขึ้น 15.4% ส่วนแบ่งตลาด 36.4%
อันดับที่ 2 โตโยต้า จำนวน 206,071 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% ส่วนแบ่งตลาด 35.3%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด จำนวน 43,582 คัน เพิ่มขึ้น 34.8% ส่วนแบ่งตลาด 7.5%
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 454,875 คัน เพิ่มขึ้น 15.6%
อันดับที่ 1 อีซูซุ จำนวน 195,945 คัน เพิ่มขึ้น 17.2% ส่วนแบ่งตลาด 43.1%
อันดับที่ 2 โตโยต้า จำนวน 175,786 คัน เพิ่มขึ้น 16.0% ส่วนแบ่งตลาด 38.6%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด จำนวน43,582 คัน เพิ่มขึ้น 34.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.6%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 66,577 คัน
โตโยต้า 27,685 คัน - อีซูซุ 20,520 คัน - ฟอร์ด 9,765 คัน – มิตซูบิชิ 7,405 คัน – นิสสัน 1,202 คัน
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 388,298 คัน เพิ่มขึ้น 7%
อันดับที่ 1 อีซูซุ จำนวน 175,425 คัน เพิ่มขึ้น16.4% ส่วนแบ่งตลาด 45.2%
อันดับที่ 2 โตโยต้า จำนวน 148,101 คัน เพิ่มขึ้น 15.1% ส่วนแบ่งตลาด 38.1%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด จำนวน 33,817 คัน เพิ่มขึ้น23.9% ส่วนแบ่งตลาด 8.7%
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 คาดว่าจะยังคงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด จากทิศทางที่ดีในการลดระดับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การดำเนินชีวิตผู้คนเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ พร้อมกับการเปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่มีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติและคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2566 เทียบกับปี 2565
- ปริมาณการขายรวม 900,000 คัน + 6.0%
- รถยนต์นั่ง 301,500 คัน + 13.7%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 598,500 คัน + 2.4%
สำหรับโตโยต้า มีการตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 310,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.3% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4%
ประมาณการยอดขายรถยนต์ โตโยต้าในปี 2566 เทียบกับปี 2565
- ปริมาณการขายโตโยต้า 310,000 คัน + 7.3% ส่วนแบ่งตลาด 34.4%
- รถยนต์นั่ง 96,900 คัน + 17.1% ส่วนแบ่งตลาด 32.1%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 213,100 คัน + 3.4% ส่วนแบ่งตลาด35.6%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 183,000คัน + 4.1% ส่วนแบ่งตลาด
41.1%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 155,000 คัน + 4.7%ส่วนแบ่งตลาด
41.9%
ปริมาณการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2565
ในด้านการส่งออกรถยนต์ ในปี 2565 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 378,454 คัน หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2564 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 659,262 คัน หรือเพิ่มขึ้น 28% จากปี 2564
สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี2566 อยู่ที่ 405,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2566 อยู่ที่ ราว 723,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.7% จากปีที่ผ่านมา
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทย ในปี 2566
ในปีนี้โตโยต้าพร้อมเดินหน้าตามแนวทางที่ มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในงานฉลองวาระครบรอบ 60 ปี ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) พร้อมสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi - Pathway” เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การบริการ และ กิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสังคมไทย
ที่มาข้อมูล บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด - ข่าวประชาสัมพันธ์ (toyota.co.th)