ธุรกิจการตลาด

คาราบาวแดงบุกตลาดเบียร์ ทุ่ม 4,000 ล้าน เปิดศึกตลาดเบียร์ปี 66 คึกคัก

25 ม.ค. 66
คาราบาวแดงบุกตลาดเบียร์  ทุ่ม 4,000 ล้าน เปิดศึกตลาดเบียร์ปี 66 คึกคัก

สะเทือนวงการเบียร์ เมื่อคาราบาวแดง หันมาบุกตลาดเบียร์ เหตุใดถึงหันมาจับตลาดเบียร์ มองเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจนี้ได้อีก? หรือต้องการแตกไลน์สินค้าให้ครบทุกกลุ่ม? เราคงจะเห็นอะไรใหม่ๆ ในวงการธุรกิจเบียร์เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่ อย่างคาราบาวแดงโดดเข้ามาเล่นด้วย!!! 

“คาราบาวแดง” แจ้งเกิดมาจากเครื่องดื่มชูกำลัง และจากผู้ก่อตั้งนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ และนายยืนยง โอภากุล หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “พี่แอ๊ด คาราบาว” ที่ผันมาทำธุรกิจตีตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2544 ทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังกว่า 20 ปี และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงหมื่นล้านบาท จนเมื่อปลายปี 2557 ได้นำบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (Holding Company) ที่มีการลงทุนหลักในบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ 

  • บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด หรือ CBD ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ภายใต้เครื่องหมายการค้า "คาราบาวแดง"
  • บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด หรือ DCM ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท 
  • บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด หรือ APG ผู้ผลิตและจัดหาขวดแก้ว เพื่อใช้ในการบรรจุเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
  • เครื่องดื่มอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท

ล่าสุด นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะมีสินค้าเบียร์ออกสู่ตลาดในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยจะใช้เงินทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตที่จังหวัดชัยนาท  ซึ่งเป็นโรงงานในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด มีการผลิตสุราขาวแบรนด์ข้าวหอม วิสกี้แบรนด์ เทนโด และโซจู แบรนด์แทยัง 

โดยโรงเบียร์แห่งนี้จะมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร และมีแผนจะวางจำหน่ายทั่วประเทศ และมีแผนจะมีเบียร์ อย่างน้อยประมาณ 2-3 รสชาติออกมา เพื่อจับกลุ่มลูกค้าในทุกตลาด ซึ่งอาจจะใช้ชื่อ “เบียร์คาราบาวแดง” หรือ “เบียร์ตะวันแดง” ยังไม่ได้สรุป

“เราทำเหล้าแล้ว ถ้าเราไม่ทำเบียร์ โอกาสที่เหล้าจะเติบโตหรือขยายตัวค่อนข้างยาก และเราก็มีโรงเบียร์เยอรมัน ตะวันแดง ที่เปิดมา 20 กว่าปี มองว่าเป็นโอกาสมากกว่าเหมือนตอนที่ทำเครื่องดื่มชูกำลัง และเปิดแบรนด์คาราบาว มันมีโอกาสขายได้ เราต้องทำเบียร์เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง” นายเสถียรกล่าว

นอกจากนี้  ปัจจุบันบริษัทยังมีธุรกิจค้าปลีกภายใต้ “ซีเจ ซูเปอร์ มาร์เก็ต” และ “ซีเจ มอร์” ร้านถูกดี มีมาตรฐาน และมีกิจการโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการขยายตลาดไปยังธุรกิจต่างๆ ก็เพื่อสร้างการเติบโตของยอดขาย

ตัวเลขผลประกอบการของบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 9 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 1,877.99 ล้านบาท มีรายได้รวม 14,891.86 ล้านบาท  มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่ 99,500 ล้านบาท  

เมื่อหันกลับมาดูตลาดธุรกิจเบียร์ในไทยที่ผ่านมา พบว่า ส่วนแบ่งตลาดเบียร์ ผู้นำตลาด ได้แก่ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่มีส่วนแบ่งตลาด 57.9% ของมูลค่าตลาดเบียร์ในไทยโดยรวม 2.6 แสนล้านบาท ตามด้วย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (34.3%) และ บจก.ไทย เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ (4.7%) 

หากพิจารณาเป็นรายแบรนด์ พบว่า ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมา คือ ‘ช้าง’ (31.2%) ‘สิงห์’ (11.2%) ‘ไฮเนเกน’ (3.8%) และ ‘อาชา’ (2.4%) 

ปีนี้ตลาดเบียร์จะคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากประเทศต่างๆ ทยอยเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ไทยก็เป็นประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเท่านั้น ที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ มาเที่ยว มากิน มาดื่ม ประกอบกับยังมีศูนย์รวมแห่งความบันเทิงทั้งหลายที่เหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติหมายปอง ซึ่งสินค้าเบียร์ก็เป็นสินค้าหลักอันนึงที่ขาดไม่ได้

เราคงต้องมาจับตาดูศึกธุรกิจเบียร์ จะมีลูกเล่นอะไรใหม่ๆ มาแข่งขันกัน คงสร้างสีสันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว!!! 

อ้างอิง : ส่วนหนึ่งจากกรุงเทพธุรกิจ ศูนย์วิจัยกรุงศรี  SET

           

advertisement

SPOTLIGHT