ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบจากดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท สู่โครงการสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 85,000 ล้านบาท 2. ด้านการท่องเที่ยว 10,053 ล้านบาท 3. ด้านลดผลกระทบการส่งออก เพิ่มผลิตภาพ และดิจิทัล 11,122 ล้านบาท และ4. ด้านเศรษฐกิจชุมชน 9,201 ล้านบา
ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คืองบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 85,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง วงเงินรวม 45,864 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้งบสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.กรมทางหลวง 29,160 ล้านบาท 2.กรมทางหลวงชนบท 14,725 ล้านบาท และ 3.การรถไฟแห่งประเทศไทย 1,020 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ เน้นที่กรมทางหลวง ซึ่งก็คือการก่อสร้างถนนเป็นหลัก สร้างแล้ว สร้างอีก อย่างถนนพระราม 2 จนได้รับฉายาว่า “ถนน 7 ชั่วโคตร” จะดีกว่าไหม ถ้ารัฐบาลหันมาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ทุกคน
สภาผู้บริโภคชงไอเดียระบบขนส่งที่เป็นธรรม
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การผลักดันระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเมืองที่เป็นธรรม (Just City) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs Goals) ในข้อ 11 คือการจัดระบบคมนาคมที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาเอื้อมถึงได้ ดังนั้นหากภาครัฐจะใช้งบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มบริการ “ขนส่งสาธารณะที่ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” และ “พัฒนาความปลอดภัย” ทางถนนเป็นหลัก
“แนวทางดังกล่าว จะช่วยกระจายการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัย และกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสภาผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ดีกว่าใช้งบประมาณแบบไม่รู้ทิศทาง ไปซ่อม สร้างถนนไม่มีวันจบ หรือลงเสาไฟกินรี ซึ่งมีเพียงเอกชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์” อิฐบูรณ์ กล่าว
ที่ผ่านมา ระบบขนส่งสาธารณะที่ให้บริการในท้องถิ่นแทบจะล่มสลาย จากการที่รัฐให้สัมปทานกับเอกชน และมุ่งแข่งขันเพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเอง แต่ไม่ได้แข่งขันกันให้บริการประชาชน ขณะเดียวกัน การขาดเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้การให้บริการขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างเสรี ปัจจุบันต้องยอมรับว่าระบบขนส่งสาธารณะที่มี ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะต่างจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่ต้องรับบริการอย่างทั่วถึง ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาสนับสนุน
“ปัจจุบัน รัฐยังไม่จัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้ เหมือนบริการรถจัดเก็บขยะไปตามบ้านประชาชน รถขนส่งสาธารณะก็เช่นเดียวกัน องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นสามารถจัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะได้ เพื่อให้กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย สามารถเดินทางได้อย่างเสรี ซึ่งรัฐอาจจะไปสนับสนุนโครงการรถนักเรียนปลอดภัย ปรับพฤติกรรมให้คนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในท้องถิ่นมากขึ้น ช่วยลดอุบัติเหตุจากการใช้รถมอเตอร์ไซด์ หรือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง”
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โดยมี 7 พื้นที่ต้นแบบครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงโครงการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ที่นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรแล้ว และลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ที่พร้อมเสนอเป็นโมเดลสู่ภาครัฐเพื่อจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่เป็นธรรมกับทุกคนได้
กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อิฐบูรณ์ กล่าวว่า การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องมองเรื่องความยั่งยืน หาวิธีใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องคิดวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ที่เติมเงินในกระเป๋าของประชาชน แต่การลดค่าใช้จ่าย ก็สามารถช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ และเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย เช่น การพัฒนาระบบรางในจังหวัดลพบุรี และอยุธยา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยวตามมา
“การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างบริการขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ทุกคน จะช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้บริการสาธารณะ ทำให้ปัญหาการจราจรคลี่คลาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง และการท่องเที่ยว กระทรวงการคลังต้องเปลี่ยนมุมคิดใหม่ การทำบริการสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องมีรายได้กลับมา แต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทำให้คนอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า” อิฐบูรณ์ กล่าว
โครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ตอบโจทย์การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชน และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน จากการทำถนนยกระดับ 2 ชั้น 3 ชั้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่มากขึ้นไปอีก ที่สำคัญยิ่งทางยกระดับสูงขึ้นเท่าไหร่ ค่าก่อสร้างยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น และทำให้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานขึ้น ซึ่งมองไม่เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์นอกจากกลุ่มทุน ผู้รับเหมา และชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่ยาวนานขึ้น
ผู้บริโภคสามารถร่วมสร้างเมืองที่เป็นธรรมของทุกคนกับสภาผู้บริโภคผ่านช่องทางของสภาผู้บริโภคทุกช่องทาง ทั้ง Website www.tcc.or.th , line ทางการของสภาผู้บริโภค : @tccthailand เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ : สภาองค์กรของผู้บริโภค, ทวิตเตอร์ : @tccthailand Tiktok : @tccthailand โดยสภาผู้บริโภคจะรวบรวมความเห็นเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
Advertisement