หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล Computer Engineering and Digital Technology (CEDT) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืออีกหลักสูตรที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในมุมที่ว่าตลาดแรงงานที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน ดิจิทัลยังเป็นที่ต้องการ อีกทั้งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตร Higher education sandbox ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน และเพิ่มทักษะในการลงมือปฏิบัติงานจริงแก่นิสิต
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นิสิตหลักสูตร CEDT ได้จัดงาน CEDT INNOVATION SUMMIT 2025 ที่ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้กลายเป็นเวทีที่รวบรวมการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม และการศึกษาในที่เดียวได้อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นเสาหลักในวงการดิจิทัล เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), TEDFund, ธนาคารกรุงเทพ, SeaX Ventures และ RISE
งานนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งผู้ที่ต้องการรู้จักหลักสูตร CEDT ได้อย่างลึกซึ้ง โดยเนื้อหาของงานมีทั้ง Booth Showcase – ที่นำเสนอผลงานจากหลักสูตร CEDT เช่น OS, Embedded System, NLP และ Data Science ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีบูธจากบริษัทใน MOU ที่เปิดมุมมองเกี่ยวกับการฝึกงานและการเรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
Hackathon Final Pitching – ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันไอเดียสุดเข้มข้น โดยมีทีมเยาวชนจากระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมทั้งสิ้น 458 ทีม คัดเลือกเหลือ 36 ทีมเข้าสู่รอบคัดเลือก และในรอบ Final Pitching นี้ ได้คัดเลือกให้เหลือเพียง 15 ทีมสุดท้าย มาร่วมแข่งขันโดยมีทั้งสิ้น 3 แทร็กหลัก ได้แก่ Medical Track นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์โครงสร้างฟันหรือแอปพลิเคชันที่ช่วยในการตรวจโรคตา, Financial Track การใช้เทคโนโลยีในภาคการเงิน เช่น ระบบจัดการหนี้อัจฉริยะ หรือแพลตฟอร์มที่ใช้ Blockchain ในการวิเคราะห์คาร์บอนเครดิต, Education Trackการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ เช่น แอปจดโน้ตอัจฉริยะหรือเกมที่ช่วยเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ
Panel Discussion – เสวนาจากผู้นำด้านนวัตกรรมในหัวข้อ "การลงทุนในนวัตกรรม" ซึ่งมีการนำเสนอความคิดเห็นจากผู้บริหารและนักลงทุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งช่วงนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะบอกชี้ช่องบอกแหล่งเงินทุนที่ทำให้ไอเดียแปรเปลี่ยนเป็นผลงานที่ใช้ได้จริง และอาจไปไกลถึงการเป็นสตาร์ทอัพ หรือยูนิคอร์นตัวใหม่หากไอเดียสามารถเกิดเป็นธุรกิจได้จริง
Matching Zone – เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พบปะและพูดคุยกับพาร์ตเนอร์จากภาคอุตสาหกรรมภายนอก รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีการร่วมลงนามใน MOU กับหลักสูตร CEDT ซึ่งช่วยให้ผู้ร่วมงานสามารถสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
National Geographic ฉบับภาษาไทย ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งได้เห็นผลงานการนำเสนอนวัตกรรมและการศึกษาที่เชื่อมโยงกันอย่างลงตัว และขอเอาใจช่วยผู้เรียน นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี ได้สร้างเครือข่ายและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
Advertisement