Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
3 ระดับความคลั่งไคล้คนดัง คุณคือ FC แบบไหน รักมากไปอาจไม่ใช่เรื่องดี

3 ระดับความคลั่งไคล้คนดัง คุณคือ FC แบบไหน รักมากไปอาจไม่ใช่เรื่องดี

16 ก.ค. 68
16:38 น.
แชร์

ทำความรู้จัก 3 ระดับความคลั่งไคล้คนดัง คุณเป็นแฟนคลับประเภทไหน เพราะรักมากไปก็อาจไม่ใช่เรื่องดี

เมื่อศิลปินคนโปรดทำความผิดบางอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว กฎหมาย หรือศีลธรรม พอเรื่องมันแดงขึ้นมา ก็ถูกสังคมตีตรา คาดโทษ วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ แฟนคลับบางคนเลือกที่จะ "เท" เพราะรับไม่ได้กับความผิดพลาดเหล่านั้น แต่บางคนก็ยังคง "รักมั่น" เชื่อว่าเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวคือคนละเรื่องกัน หรือบางคนก็ “ให้อภัย” พร้อมให้โอกาสศิลปินได้กลับมายืนในแสงอีกครั้ง

ความรักของแฟนคลับเป็นยิ่งกว่าแค่การชื่นชอบธรรมดา มันเป็นรักที่เป็น “แรงบันดาลใจ” ในการใช้ชีวิตของใครสักคน และเป็น "แรงขับเคลื่อน" สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่อุตสหการรมบันเทิงเฟื่องฟู วันนี้เรามาทำความรู้จักความรักแบบแฟนคลับให้ชัดเจนมากขึ้น มาดูกันว่าคุณเป็นแฟนคลับประเภทไหน

นักวิชาการแบ่ง “ความคลั่งไคล้ศิลปิน” ออกเป็น 3 ระดับ

1. ชื่นชมเพื่อความบันเทิง (Entertainment-Social Celebrity Worship) ระดับนี้เบาที่สุด เหมือนการมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ชอบศิลปินคนเดียวกัน ชอบติดตามข่าวสาร พูดคุยเรื่องผลงาน และมักเพลินจนลืมเวลาเมื่อได้ตามติดเรื่องราวที่สนใจ แต่ถ้าศิลปินกระทำผิด จะมองเหตุและผล พิจารณาถึงความรุนแรงของความผิด เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่จะชอบต่อไปหรือเลิกชอบ

ตัวอย่างความคิด

- ฉันกับเพื่อนชอบคุยเรื่องที่ศิลปินคนโปรดทำ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่ศิลปินชอบไป หนังเรื่องที่ศิลปินชอบดู

- ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ที่ศิลปินคนโปรดร่วมแสดงแล้วมีความสุข โพสต์โมเมนต์ฟิน ๆ ลงโซเชียล

 2. ชื่นชอบแบบเข้มข้น-ผูกพัน (Intense-Personal Celebrity Worship) ระดับนี้จะลึกซึ้งขึ้นมาหน่อย มีความหลงใหล เทิดทูน อยากรู้เรื่องส่วนตัว และรู้สึกใกล้ชิดเหมือนเป็นคนในครอบครัว เริ่มมีความเครียด กระวนกระวาย ถ้าไม่ได้เจอหรือรับรู้ข่าวสารของศิลปินที่ตัวเองชอบ มองหามุมมองรอบด้านเพื่อเป็นเหตุผลในการให้อภัยในสิ่งที่ศิลปินเคยทำผิด

ตัวอย่างความคิด

- ถ้าศิลปินคนโปรดเจอเรื่องร้าย ๆ ฉันจะรู้สึกเหมือนเกิดขึ้นกับฉันด้วย

- มีความสุขที่ได้เห็นศิลปินคนโปรดเติบโตขึ้น มีผลงานใหม่ ๆ ให้ได้ติดตาม

3. คลั่งไคล้แบบรุนแรง (Borderline-Pathological Celebrity Worship) ระดับนี้คือขั้นสุด เริ่มมีพฤติกรรมคุกคาม เช่น สตอล์กเกอร์ หรือ ซาแซงแฟน (ในกรณีศิลปินเกาหลี) ไม่สามารถควบคุมความคิดหรือพฤติกรรมเกี่ยวกับศิลปินได้อีกต่อไป ถ้าไม่ได้รับความรักหรือความสนใจ อาจผันตัวจากแฟนคลับไปเป็นแอนตี้แฟน แสดงพฤติกรรมคุกคามทั้งศิลปิน และคนรอบข้างของศิลปิน นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมได้ในอนาคต

ตัวอย่างความคิด

- ถ้ามีเงิน 100,000 บาท ฉันจะเอาไปซื้อของใช้ส่วนตัวของศิลปินคนโปรด

- ถ้าฉันไปดักเจอศิลปินคนโปรดที่ลานจอดรถหรือในบ้านของเขา เขาจะต้องดีใจแน่ ๆ ที่ได้เจอฉัน

- ศิลปินห้ามมีคนรัก เขาจะต้องรักฉันคนเดียว ถ้าไม่ทำตามความต้องการของฉัน ฉันจะทำลายเขาและทุกคนที่เขารัก

 “ศิลปิน-แฟนคลับ” คือ ความสัมพันธ์แบบกึ่งความจริง

ความผูกพันที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน เรียกว่า "Parasocial Relationship" หรือ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง เป็นการที่เราจินตนาการว่า เรารู้จักสนิทสนมกับบุคคลในสื่อ ทั้งที่จริงแล้วความรู้สึกนี้เกิดขึ้นแค่ฝ่ายเดียว เหมือนเรามองพวกเขาเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัว โดยที่พวกเขาไม่ได้รู้จักเราตอบ

ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดขึ้นได้จากการติดตามสื่ออย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หมายถึงความผิดปกติทางจิตใจ และยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียที่ศิลปินเปิดเผยเรื่องส่วนตัวมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้แฟนคลับรู้สึกใกล้ชิดมากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น การเข้าใจระดับความคลั่งไคล้คนดังเหล่านี้ จะช่วยให้เรามองเห็นพฤติกรรมของแฟนคลับได้ชัดเจนขึ้น และรู้เท่าทันว่าเมื่อไหร่ที่ความชื่นชอบเริ่มกลายเป็นปัญหาต่อทั้งตัวศิลปิน และตัวเราเอง แล้วคุณล่ะ เป็นแฟนคลับประเภทไหนกัน

ที่มา: คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรมสุขภาพจิต

Advertisement

แชร์
3 ระดับความคลั่งไคล้คนดัง คุณคือ FC แบบไหน รักมากไปอาจไม่ใช่เรื่องดี