Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สสว. หนุนทุน เสริมความรู้ ดัน “SME ไทย” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

สสว. หนุนทุน เสริมความรู้ ดัน “SME ไทย” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

8 ก.ค. 68
11:36 น.
แชร์

ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ SME ไทย ที่กำลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก ย้ำบทบาท สสว. ในการสนับสนุนด้านเงินทุน การตลาด และการเพิ่มขีดความรู้ ความสามารถ พร้อมชูแนวทางส่งเสริม SME สู่ธุรกิจสีเขียว และความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดัน SME ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

               ดร.ปณิตา กล่าวถึง สถานการณ์ของ SME ไทยในปัจจุบันว่า ธุรกิจขนาดลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปัจจัยด้านสงครามการค้าและสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่งผลให้การเติบโตของ SME ไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.7% และลดลงเหลือเพียง 3.2% ในไตรมาสแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม SME ยังคงเป็นสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

            ในเรื่องแนวโน้มความเสี่ยงและปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อ SME ไทย ดร.ปณิตากล่าวว่า แนวโน้มความเสี่ยงยังคงสูงตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การกีดกันทางการค้าและทำให้สินค้าจากจีนไหลเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทยเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นสำหรับ SME ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของจีน ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามากขึ้น และในช่วงที่ยังไม่มีการปรับขึ้นภาษีโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา SME ไทยจึงต้องเร่งปรับตัวและส่งออกให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ SME ไทยประมาณ 4,000 กว่าราย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยในจำนวนนี้มีถึง 3,700 รายที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงในภาคการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งทาง สสว. กำลังเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ในการหาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ในประเทศใหม่ ๆ

           ด้านบทบาทของ สสว. ในการสนับสนุนและส่งเสริม SME ไทย ดร.ปณิตากล่าวว่า สสว. คือหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดนโยบายและแผนส่งเสริม SME มีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของ SME ไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME รายย่อย หรือ “Micro SME” ที่มีจำนวนถึง 2.8 ล้านราย สสว. จึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดหาเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารทั่วไป และไม่มีเงื่อนไขการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน

            นอกจากนี้ สสว. ยังช่วยส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ให้กับ SME ที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีหรือการแข่งขันที่รุนแรงจากการไหลเข้าของสินค้านำเข้า โดยการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญคือ สสว. ยังจัดกิจกรรมและให้องค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SME ไทยอีกด้วย

             ดร.ปณิตายังได้เปิดเผยถึงบทบาทสำคัญของ Green Business หรือ “ธุรกิจสีเขียว” ว่าถือเป็นทางรอดและโอกาสใหม่สำหรับ SME ไทย เป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ หรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรปที่จะเริ่มใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ในปีหน้า ซึ่งจะกำหนดให้สินค้านำเข้าต้องเป็น Green Product ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME ในการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว โดยจัดอบรมและให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจสีเขียวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “SME Academy” และร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้ความรู้และพัฒนาขีดความสามารถของ SME ไทย

         นอกจากนี้ สสว. ยังช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียวในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะการปรับตัวสู่ Green Business ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุน เช่น การลดการใช้น้ำและพลังงาน แต่ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และสร้างรายได้จากการขาย Carbon Footprint หรือ Carbon Credit ให้กับองค์กรที่ต้องการ ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจสีเขียวที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหารที่นำเศษอาหารไปผลิตเป็นปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ หรือโรงแรมขนาดเล็กที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากร อย่างการใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อนที่ใช้แล้วทิ้งทั้งที่ยังใช้ไม่หมด ซึ่งล้วนช่วยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้

            ด้านความร่วมมือกับภาคีพันธมิตร ดร.ปณิตากล่าวว่า สสว. มีการดำเนินภารกิจที่ครอบคลุมและกว้างขวาง โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้า, สมาพันธ์ SME ไทย รวมถึงกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานและผลักดัน SME ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

               นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัตินโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ SME ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจัดเตรียมเงินทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “SME D Bank” ซึ่งประกอบด้วย “Transformation Fund” หรือ "กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลง"  จำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับ SME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจดิจิทัล หรือธุรกิจสีเขียวที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาคือ “Enhancement Fund” หรือ "กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ"  อีก 1,000 ล้านบาท สำหรับ SME ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถหรือความแข็งแกร่งของธุรกิจ โดยมีเพดานกู้สูงสุด 5-10 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 1% พร้อมพักชำระหนี้ 1 ปี โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน และ “เงินทุนสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง” อีก 700 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับ SME ในกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ที่พัก สปา รถเช่า ที่กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาขาดกระแสเงินสดสำหรับต่อยอดธุรกิจ เพื่อรอคอยช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง

            นอกจากการสนับสนุนทางการเงินและองค์ความรู้แล้ว สสว. ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านช่องทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะในระบบ “E-Commerce” ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทาง สสว. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในช่องทางนี้ รวมถึงส่งเสริมอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น อินฟลูเอนเซอร์ หรือ Key Opinion Leader (KOL) ซึ่งถือเป็น SME รูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างงานและรายได้ด้วยตนเอง สสว. มีแผนรณรงค์เพื่อสร้างและพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์หรือ KOL รายใหม่ ๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งหาวิธีให้พวกเขาสามารถช่วยผู้ประกอบการรายอื่นในการจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้แก่ทั้งผู้ประกอบการและตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง

               สุดท้าย ดร.ปณิตาได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่า สสว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมประคองและสนับสนุน SME ไทยให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ และพร้อมที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจ SME ไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์ www.sme.go.th หรือแอปพลิเคชัน SME CONNEXT

Advertisement

แชร์
สสว. หนุนทุน เสริมความรู้ ดัน “SME ไทย” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก