"ธีรรัตน์" ขับเคลื่อนเชิงรุก แก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก ผนึกวิชาการนิติวิทยาศาสตร์–วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมถกแก้มลพิษข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (7 ก.ค. 68) เวลา 09.00 น. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการส่วนหน้าแก้ไขปัญหาน้ำกกน้ำสายจังหวัดเชียงรายเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแปลผลข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ และการจัดการความเสี่ยงเชิงวิศวกรรม จากกรณีการตรวจพบสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยมี ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้อำนวยการหน่วยภารกิจฐานข้อมูลและระบบดิจิทัล สกสว. พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 15 สกสว. อาคาร SM Tower (สนามเป้า) กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
การประชุมได้มีการนำเสนอผลการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำกก การพิจารณาผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ และการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนจากการได้รับผลกระทบของการปนเปื้อนสารหนูและโลหะหนัก รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบ โดยเน้นการบูรณาการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ากับแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกัน และยึดหลักการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ เเละมีเเนวทางการนำ Intelligence System ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้ามาเพื่อเป็นระบบวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับเเละเเก้ไขภาวะวิกฤตเร่งด่วนด้านมลพิษสิ่งเเวดล้อม
นางสาวธีรรัตน์ ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่าย ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ตลอดจนอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด โดยจากนี้จะต้องมีการเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูแม่น้ำกกให้ครอบคลุมทุกมิติและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะทำหน้าที่ประสานงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยยืนยันว่า "จะไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงลำพัง"
Advertisement