Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“น้ำแข็งแห้ง” สวยซ่อนพิษ! ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกวิธี

“น้ำแข็งแห้ง” สวยซ่อนพิษ! ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกวิธี

7 ก.ค. 68
13:47 น.
แชร์

ไปม่วนจอยในคอนเสิร์ตทั้งที นอกจากแสง สี เสียงสุดอลังการ ก็มีเอฟเฟกต์หมอกควันนี่แหละที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้เราอินไปกับการแสดงได้สุด ๆ แต่รู้ไหมว่าเจ้าควันสวย ๆ ที่เห็นกัน ถ้าใช้มากไปหรือผิดวิธี ก็อาจเป็นอันตรายต่อทั้งศิลปิน ทีมงาน และคนดูได้เหมือนกัน

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที หลังจาก "คุณแม่ติ๋ม" แม่ของนักร้องสาว วี วิโอเลต ที่เพิ่งขึ้นเวทีคอนเสิร์ต "มาม่า presents Move On จนโคจรมาเจอกัน" เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เข้าไปเตือนลูกสาวที่เพิ่งลงจากเวที ด้วยความเป็นห่วงเรื่องการใช้เอฟเฟกต์ควัน โดยบอกว่าในคอนเสิร์ตมีการปล่อยควันเยอะมาก ใช้เครื่องพ่นควันถึง 2 เครื่อง ซึ่งถ้าเป็น "Dry ice (น้ำแข็งแห้ง) มันคือคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้ามีปริมาณมาก ออกซิเจนในอากาศอาจจะหายไปหมด และอาจเกิดอันตรายต่อทั้งตัวศิลปิน ทีมงาน และคนดูได้

เป็นคลิปสั้น ๆ ที่ได้เห็นคุณแม่พูดเตือนด้วยความห่วงใยในสไตล์วีนหน่อย ๆ ทำเอาสาววีที่ยืนฟังอยู่ถึงกับอึ้งไปเลย ส่วนชาวเน็ตก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สมแล้วที่คุณแม่ติ๋มเป็นถึงอาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพราะคุณแม่สามารถอธิบายเรื่องอันตรายของเอฟเฟกต์ควันได้อย่างละเอียด เป็นฉากเป็นตอน ทำให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงเอฟเฟกต์ควันที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ในพื้นที่ที่ช่วยสร้างความสุขอย่างฮอลล์จัดคอนเสิร์ต

ต่อมา "สมาคมผู้ประกอบอาชีพระบบแสงเสียงภาพไทย" ก็ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับความแตกต่างและวิธีการใช้งาน Smoke (ควัน) และ CO2 (น้ำแข็งแห้ง) ในงานแสดงคอนเสิร์ตและอีเวนต์ โดยยืนยันว่าการใช้งานเอฟเฟกต์ต่าง ๆ สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตทุกครั้ง จะอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลรอบข้าง

ด้าน "รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์อธิบายเสริมว่า หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำแข็งแห้งสะสมปริมาณมากเกินไปในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น รถยนต์ โรงภาพยนตร์ หรือฮอลล์คอนเสิร์ต คนที่สูดดมเข้าไปจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะ CO2 จะไปแทนที่ออกซิเจน ทำให้หายใจลำบากและขาดอากาศหายใจได้ พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวเน็ตได้รู้จักกับ "เครื่องสร้างหมอก" (Fog Machine) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัยกว่ามาก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะปล่อยไอระเหยคล้ายควันจริง โดยใช้น้ำยาทำหมอกที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเอฟเฟกต์ที่สวยงามและปลอดภัยกว่าเยอะ

เพื่อความสบายใจ เรามาดูกันหน่อยว่าน้ำแข็งแห้งมีอันตรายอะไรบ้าง และข้อห้ามอะไร ที่จะทำให้พวกเราทุกคนสามารถใช้งาน “น้ำแข็งแห้ง” เจ้าปัญหาได้อย่างให้ปลอดภัยที่สุด

อันตรายจากน้ำแข็งแห้ง

1.     ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัด (Frostbite) น้ำแข็งแห้งนั้นมีอุณหภูมิที่เย็นจัดถึง -78 องศาเซลเซียส การสัมผัสด้วยมือเปล่าอาจทำให้ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัด และมีอาการปวดแสบปวดร้อนยิ่งกว่าถูกน้ำร้อนลวก

2.     ภาวะขาดอากาศหายใจ เมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในพื้นที่แคบหรืออากาศถ่ายเทไม่ดี ก๊าซ CO2 จะสะสมและไปแทนที่ออกซิเจน การสูดดมเข้าไปในปริมาณมากและเป็นเวลานาน อาจทำให้หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตได้

3.     ระเบิด หากนำน้ำแข็งแห้งไปบรรจุในภาชนะปิดสนิท เมื่อ CO2 ระเหิดออกมาและสะสมถึงระดับหนึ่ง จะเกิดแรงดันมหาศาลจนภาชนะระเบิดได้

การจัดการน้ำแข็งแห้งอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

1.      ห้ามจับด้วยมือเปล่าเด็กขาด ควรใส่ถุงมือหนาๆ ถ้าเผลอโดนแล้วมือชาหรือเป็นแผลไหม้จากความเย็น ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

2.      ห้ามเก็บปริมาณมาก ๆ ในห้องแคบหรือที่อับ ที่อากาศไม่ถ่ายเทเด็ดขาด เพราะ CO2 ที่ระเหิดออกมาจะไปแทนที่ออกซิเจน อาจทำให้ขาดอากาศหายใจได้

3.      ห้ามใส่ในภาชนะปิดสนิท เพราะ CO2 จะทำให้เกิดแรงดันจนระเบิดได้

4.      ห้ามนำน้ำแข็งแห้งไว้ในตู้เย็น เพราะความเย็นจัดของมันอาจทำให้ระบบทำความเย็นของตู้เย็นรวนและพังได้

5.      ไม่ควรเก็บไว้ในห้องโดยสารรถยนต์ ถ้าจำเป็นต้องขน ควรใส่ในภาชนะที่มีช่องระบายอากาศ และ เปิดกระจกรถทุกบาน เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทเข้ามา ป้องกันการระเบิดและการขาดอากาศหายใจ

6.      ห้ามนำมาเล่นสนุกเด็ดขาด โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ปกครองต้องจัดเก็บน้ำแข็งแห้งให้พ้นมือเด็ก และเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ทิ้งลงถังขยะทันที

7.      หากใช้ในงานแสดงคอนเสิร์ตหรือละครเวที สถานที่จัดงานควรมีระบบระบายอากาศที่ดี โดยเฉพาะในบริเวณด้านล่างของเวที เพราะก๊าซ CO2 มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ จะลอยอยู่ในระดับต่ำ

8.      ห้ามนำไปผสมในเครื่องดื่ม หรือรับประทานเด็ดขาด

9.      ควรใช้น้ำแข็งแห้งเพื่อถนอมอาหารหรือประโยชน์ทางอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยห่อด้วยกระดาษให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง

10.   เวลาแบ่งน้ำแข็งแห้ง ระวังอย่าให้กระเด็นเข้าตา

เพราะฉะนั้นต้องจำไว้เลยว่า แม้น้ำแข็งแห้งจะมีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์และไม่ถูกวิธี ก็อาจจะส่งผลอันตรายสุด ๆ

ที่มา: สสส.

Jessada Denduangboripant

สมาคมผู้ประกอบอาชีพระบบแสงเสียงภาพไทย

 

 

 

Advertisement

แชร์
“น้ำแข็งแห้ง” สวยซ่อนพิษ! ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกวิธี