ในยุคที่คอนเทนต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง คลายเครียด หรือค้นหาแรงบันดาลใจ การเข้าใจพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงและตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้เผยผลสำรวจฉบับพิเศษประจำปี 2568 ในหัวข้อ “Content ต่างใจ เพราะวัยต่างกัน” ถอดรหัสพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไทยในแต่ละช่วงวัย
โดยได้ทำการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งผลการศึกษาสามารถอ้างอิงได้ผ่านผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งประชากรเพศชายและเพศหญิง จำนวน 1,200 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ
ถอดรหัสการเสพความบันเทิงและคอนเทนต์ของคนไทยในแต่ละช่วงวัย
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า “ความต้องการ” และ “ความรู้สึก” ที่อยู่เบื้องหลังการเสพคอนเทนต์ ของแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 ช่วงวัยหลักๆ ดังนี้
วัย 20+ : ช่วงเวลาเติมพลังค้นหาตัวเองแบบ No Judge
ช่วงวัย 20 (อายุ 20 – 29 ปี) ให้ความสำคัญกับการเยียวยาความเศร้า หาความรู้สึกสร้างแรงบันดาลใจ และเติมพลังให้กับตัวเอง มักเสพเนื้อหาโรแมนติก เพื่อหลีกความเป็นจริงและเติมเต็มความรู้สึก โดยมีความสนใจในศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรม รวมถึงเนื้อหาที่ท้าทายและเร้าใจ ซึ่งสามารถกระตุ้นแรงบันดาลใจและเติมเต็มพลังชีวิตได้
เหตุผลหลักที่ทำให้คนเสพเนื้อหาคือการ “เยียวยาความเศร้า” สูงกว่า (35% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกสับสนและความเหงาในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมองหาแรงบันดาลใจและความตื่นเต้น (33%) เพื่อค้นพบตัวตนและเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินหน้าต่อไป
วัย 30+ : เน้นอัปเดตทุกเรื่องฮิต ให้ชีวิตไม่ Disconnect
ช่วงวัย 30 (อายุ 30 – 39 ปี) ใช้เนื้อหาเพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นกระแสในโลกปัจจุบันและเติมเต็มอารมณ์ไปพร้อมกัน เป็นช่วงวัยที่มีการเสพความบันเทิงที่หลากหลายและรอบด้านมากที่สุด มีรสนิยมที่หลากหลาย สนใจทั้งเนื้อหาการสำรวจ อาหารและการทำอาหาร และศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรม
วัยนี้เสพเนื้อหา “เพื่อการอัปเดตเทรนด์” กว่า (32%) และ “เพื่อเยียวยาความเศร้า” (27%) เพราะผู้คนในช่วงวัยนี้จะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว โดยการที่เขาพยายามวิ่งตามสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ถูกถาโถมด้วยความรู้สึกที่ต้องรู้เทรนด์ต่างๆ ทำให้ในทางกลับกันเขามองหาชีวิตจริง หรืออยากรับรู้ว่าคนอื่นๆ ก็เหน็ดเหนื่อยอย่างเขาเช่นกัน ทำให้พวกเขาชื่นชอบคอนเทนต์เสียดสีชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการทำงาน การเลี้ยงลูก และโครงสร้างอำนาจในที่ทำงาน
วัย 40 + : มองหาการฮีลใจ คลายกังวล คน Mid-Life
ช่วงวัย 40 (อายุ 40 – 49 ปี) หันมาเสพเนื้อหาเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากชีวิตที่วุ่นวาย มักให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สร้างความผ่อนคลายและเติมเต็มความสุขส่วนตัว เช่น อาหารและการทำอาหาร และเรื่องราวลี้ลับ และสวนทางกับคนในช่วงวัย 20+ เนื่องจากความสนใจในเนื้อหาโรแมนติกลดลง
ซึ่งเหตุผลหลักที่เสพเนื้อหาคือ “เพื่อผ่อนคลายความเครียดและความกังวล” (27%) และ “เพื่อสนับสนุนคนที่ชอบหรือสิ่งที่ชอบ” (26%) แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่มั่นคง แต่ก็เผชิญกับความรู้สึกซ้ำซาก จำเจ และขาดความตื่นเต้น ทำให้พวกเขามองหาเนื้อหาที่สนุก ง่ายต่อการรับชม และสร้างแรงบันดาลใจแบบเบา ๆ
วัย 50+ : เติมเต็มชีวิตด้วยเรื่องใหม่ๆ เชื่อมใจครอบครัว
ช่วงวัย 50 (อายุ50 – 59 ปี) มองว่าเนื้อหาเป็นช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและค้นหาความหมายของชีวิต ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและขนบธรรมเนียม เช่น เสียดสีสังคม การเมือง และศาสนา ซึ่งในทางกลับกันความสนใจในเนื้อหาผจญภัย อาหารและการทำอาหาร และโรแมนติก ลดลง
เหตุผลที่คนในช่วงวัยนี้ให้ความสนใจเพื่อ “เชื่อมโยงกับชุมชน” (32%) ตามด้วย “เพื่อสนับสนุนคนที่ชอบหรือสิ่งที่ชอบ” (30%) ในขณะที่ “การเยียวยาความเศร้า” ไม่ใช่ประเด็นหลัก (17%) ซึ่งผู้คนในช่วงวัยนี้หลายคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบทบาทในชีวิต เช่น ลูกเติบโตออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเอง หรือการเกษียณอายุในการทำงาน ทำให้พวกเขามองหาเนื้อหาที่สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และช่วยให้พวกเขาค้นหาความหมายใหม่ของชีวิต
ที่มา : สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
Advertisement