ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง "ทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ" ได้กลายเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีข่าวการใช้ทรัพย์สินของวัดในทางที่ไม่เหมาะสม หรือข้อสงสัยในความโปร่งใสของการบริหารจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุ
สิ่งเหล่านี้ได้เกิดคำถามให้กับประชาชนว่า “ระบบการจัดการทรัพย์สินของวัดในประเทศไทยมีความเหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้หรือไม่”
อย่างไรก็ตามการที่วัดถือครองทรัพย์สินจำนวนมหาศาล โดยที่ไม่มีระบบตรวจสอบและกลไกความโปร่งใสที่ชัดเจน อาจนำไปสู่ปัญหาการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมหรือแม้แต่การทุจริตที่บ่อนทำลายความศรัทธาของประชาชนได้
งานวิจัยและข้อเสนอจากภาควิชาการ
การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดได้รับความสนใจและมีการพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มนักวิชาการและนักกฎหมายที่มองเห็นช่องโหว่ในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทรัพย์สินพระไม่ใช่ของส่วนตัว
ก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ เมื่อปี 2560 โดยชูหลักการว่า เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้การบริจาคของประชาชนถูกนำไปใช้เพื่อกิจการของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ในส่วนสาระสำคัญในร่างกฎหมายที่ได้รับการจับตามอง ได้แก่ มาตรา 10 และ 12 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรัพย์สินของพระภิกษุ
มาตรา 10 กำหนดว่าทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างการบวชให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัด ที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ ซึ่งพระภิกษุสามารถใช้จ่ายได้เพื่อการดำรงอยู่ในสมณเพศ หรือเพื่อกิจการของพระพุทธศาสนาเท่านั้น และเมื่อสึกหรือมรณภาพ ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของวัดโดยอัตโนมัติ
มาตรา 12 ระบุให้พระภิกษุต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินของตนต่อคณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดทุกปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
เงินวัดต้องโปร่งใส
ขณะที่มีรายงานที่น่าสนใจในปี 2566 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่อง “วัดกับความเสี่ยงที่จะถูกใช้เพื่อฟอกเงิน” โดยนางสาวธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนโยบายการกำกับดูแลที่ดี ได้สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับวัดในประเทศไทย นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนโยบายการกำกับดูแลที่ดี)
ทั้งในแง่ของรายได้มหาศาลที่ไหลเข้าสู่วัด ความไม่รัดกุมของระเบียบภายใน และความอ่อนแอของกลไกการตรวจสอบ โดยได้เสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข สร้างความโปร่งใสการเงินวัด ได้แก่
1. ปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ เช่น กำหนดให้วัดต้องแยกบัญชีเงินบริจาคและรายได้อื่นอย่างชัดเจน ออกใบเสร็จทุกครั้ง และทำรายงานรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน
2. เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ โดยให้ติดประกาศบัญชีรายรับ-รายจ่ายในบริเวณวัด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนตรวจสอบได้
3. เพิ่มบทบาทของสำนักงาน พศ. ให้มีอำนาจและหน้าที่ชัดเจนในการตรวจสอบบัญชีวัด พร้อมจัดทำแบบฟอร์มบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ปฏิรูปบัญชีวัด
ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นของปี 2558 โดย รศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผอ.หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า เรื่อง “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย : ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล” งานชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาและเสนอแนวทางการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีข้อสรุปดังนี้
1.ปรับแก้กฎหมายให้รัดกุมและโปร่งใส - เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินวัด โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของไวยาวัจกร และเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบบัญชีของวัดจากภายนอก พร้อมทั้งให้มีการเปิดเผยรายงานบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
2.ยกเครื่องระบบบัญชีและการตรวจสอบ - ควรบังคับให้วัดทุกแห่งใช้ระบบบัญชีมาตรฐานเดียวกัน และมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องเป็นหน่วยงานกลางที่กำหนดแนวปฏิบัติและควบคุมคุณภาพบัญชี
3.กระจายอำนาจสู่ชุมชน - เสนอให้มีการแต่งตั้งกรรมการวัดโดยให้ “ชุมชน” มีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงอำนาจของเจ้าอาวาสฝ่ายเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และทำให้ประชาชนผู้ถวายปัจจัยมีสิทธิมีเสียงในทรัพย์สินของวัด
4.เสริมสร้างความรู้ด้านการบริหาร - รัฐและสังคมควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่วัดและไวยาวัจกรให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ รวมถึงให้ความรู้กับชุมชนในการมีส่วนร่วมตรวจสอบและบริหารทรัพย์สินวัดอย่างมีส่วนร่วม
การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดไม่ใช่เรื่องของการควบคุมศาสนา หากแต่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับวัดและพระพุทธศาสนาในระยะยาว โดยเฉพาะในยุคที่ประชาชนให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ในโลกยุคใหม่ที่ความโปร่งใสและการตรวจสอบกลายเป็นมาตรฐานของทุกองค์กร
Advertisement