หากศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย มีกระบวนการบังคับคดีอย่างไร? ให้ลูกหนี้ต้องจ่ายเงิน
รู้หรือไม่ เมื่อศาลตัดสินแล้วแต่คู่กรณีไม่จ่าย เงียบ ติดต่อไม่ได้ ไม่ทำตามคำพิพากษา เราสามารถร้องขอต่อศาลในคดีเดิมเพื่อขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องฟ้องใหม่ ซึ่งระยะเวลาในการบังคับคดีมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาในชั้นที่สุด
ทั้งนี้ การบังคับคดี คือ คำตัดสินหรือคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยจะกำหนดวิธีปฏิบัติ กำหนดระยะเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้นั้นต้องถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และจำขังในที่สุด
ในคดีแพ่งเมื่อได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีสืบพยานจนศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ศาลจะออกเอกสารอย่างหนึ่งที่เรียกว่าคำบังคับ โดยข้อความในเอกสารนี้จะเป็นการแจ้งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการปฎิบัติตามคำพิพากษาเช่น ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือให้กระทำการงดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างฯ ภายในกำหนดเวลา ซึ่งหากลูกหนี้ได้รับทราบคำบังคับแล้วแต่ลูกหนี้ไม่ยอมปฎิบัติตามก็จะเกิดสิทธิให้เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ต่อไปครับ
การบังคับคดีมีขั้นตอนอย่างไร?
ขั้นตอนการบังคับคดีเริ่มต้นจากการยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อศาลเห็นว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลจะมีคำสั่งหรือออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษา
หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับคดีลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อศาลเห็นว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับตามระยะเวลาที่กำหนดศาลก็จะมีคำสั่งตามสมควรเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ต่อไป โดยศาลจะบังคับคดีด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า คำพิพากษานั้นกำหนดให้ลูกหนี้ต้องทำอะไร สามารถแบ่งได้ดังนี้
1.คำพิพากษาให้ชำระหนี้เงิน
การบังคับคดีให้ชำระหนี้เงินจะดำเนินการโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้หรืออายัดสิทธิเรียกร้อง ศาลจะบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป เช่น บังคับคดียึดที่ดินขายทอดตลาด บังคับคดียึดเงินในบัญชี เป็นต้น นอกจากนี้ การบังคับคดีขายทอดตลาด ยังเป็นขั้นตอนสำคัญที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจัดให้มีการขายทรัพย์สินที่ถูกยึดตามกฎหมาย
อายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เช่น บังคับคดีหักเงินเดือนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นต้น
2.คำพิพากษาให้ส่งมอบทรัพย์
การบังคับคดีให้ส่งมอบทรัพย์จะดำเนินการโดยการยึดและส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษา
ศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามคำพิพากษาและส่งมอบทรัพย์นั้นให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียนเจ้าหนักงานบังคับคดีก็จะแจ้งให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียน
3.คำพิพากษาให้ขับไล่
การบังคับคดีให้ขับไล่จะดำเนินการโดยการขับไล่ลูกหนี้ออกจากที่ดินตามคำพิพากษา
ศาลจะตั้งเจ้าหนักงานบังคับคดีดำเนินการขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากที่ดิน หากลูกหนี้ยังไม่ยินยอมออกไปจากที่พิพาทแต่โดยดี เจ้าหนักงานบังคับคดีก็จะร้องขอต่อศาลให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าจะดำเนินการตามคำสั่งได้สำเร็จ
4.คำพิพากษาให้รื้อถอน
การบังคับคดีให้รื้อถอนจะดำเนินการโดยการรื้อถอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาและให้ลูกหนี้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
ศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอน โดยให้ลูกหนี้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เช่น ศาลพิพากษาให้รื้อถอนบ้านหากลูกหนี้ไม่ยอมรื้อ เมื่อศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะดำเนินการรื้อถอนโดยลูกหนี้ต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
5.คำพิพากษาให้ทำนิติกรรม
การบังคับคดีให้ทำนิติกรรมจะดำเนินการโดยการถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมตามคำพิพากษา
ศาลจะมีคำสั่งให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา เมื่อได้รับคำพิพากษาแล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สามารถนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนได้
6.คำพิพากษาให้กระทำการอื่นที่ไม่ใช่นิติกรรม
การบังคับคดีให้กระทำการอื่นที่ไม่ใช่นิติกรรมจะดำเนินการโดยบุคคลภายนอกที่ศาลสั่งให้กระทำการแทนโดยลูกหนี้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนโดยให้ลูกหนี้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
ที่มา : ทนาย บดินทร์ สังข์บุญชู
Advertisement