"ของปลอมขายได้ ของจริงอยู่ยาก" วลีนี้กำลังสะท้อนความเป็นจริงอันน่ากังวลใน "วิกฤตการณ์หนังสือปลอม" ที่กัดกร่อนวงการหนังสือไทยอย่างเงียบๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เม็ดเงินที่สูญเสียไป แต่ยังลุกลามบั่นทอนความเชื่อมั่นของทั้งระบบของอุตสาหกรรมหนังสือ
คุณองอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นถึงความน่ากังวลเรื่องนี้ไว้ว่า ปัญหานี้เริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” ของผู้ขายรายย่อย โดยเฉพาะร้านหนังสือขนาดเล็ก หรือร้านค้าออนไลน์ พวกเขาอาจรับหนังสือปลอมมาจำหน่ายโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ และไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือของจริงหรือของเลียนแบบ
แม้ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความเสียหายที่ตามมานั้นหนักหนา โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่ตั้งใจ
สำหรับสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ผลกระทบก็หนักหนาไม่แพ้กัน เพราะหนังสือของพวกเขามักเป็นเป้าหมายหลักของการปลอมแปลง “เราโดนเยอะที่สุด เพราะเรามีหนังสือขายดีจำนวนมาก”
แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มีหนังสือเพียง 1–2 เล่มในตลาด และเล่มเหล่านั้นดันขายดี เมื่อถูกปลอมขึ้นมา รายได้ที่ควรได้กลับหายไปทันที
“เงินที่จะใช้หมุนกิจการ เพื่อพิมพ์เล่มใหม่ หายไป เพราะคนซื้อดันไปซื้อของปลอมโดยไม่รู้ตัว” คุณองอาจ กล่าว
จากการละเมิดลิขสิทธิ์สู่การสูญเสียโอกาส
ในหลายกรณีการก็อบปี้หนังสือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แทบไม่ต้องสืบค้นให้ลึก เดินไปร้านหนังสือก็พอจะรู้แล้วว่าเล่มไหนขายดี ไม่ว่าจะเป็นนิยายแปล นิยายวาย หรือหนังสือฮาวทู หากขายดีเมื่อไหร่ ก็มักตกเป็นเป้าหมายของการละเมิดลิขสิทธิ์ทันที
สิ่งที่น่ากังวลใจคือ เมื่อหนังสือปลอมสามารถเล็ดลอดเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายได้ง่ายดาย นั่นหมายความว่าระบบการควบคุมยังมีจุดอ่อน “เราควรเริ่มจากการป้องกันในช่องทางการขาย เพราะจะไปตามจับถึงแหล่งผลิตมันยากมากแทบเป็นไปไม่ได้” คุณองอาจ กล่าว
ผลกระทบที่ลุกลามไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศ หากยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นจากต่างชาติอีกด้วย โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศไทยควบคุมปัญหานี้ไม่ได้ แล้วเขาจะขายลิขสิทธิ์ให้เราทำไม? ความไม่เชื่อมั่นที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้หนังสือแปลดี ๆ อีกหลายเล่มอาจจะมีโอกาสยากขึ้น
การปลอมแปลงหนังสือ ผลกระทบที่อาจขยายไปไกลกว่าที่คิด
หากวันหนึ่งการปลอมแปลงไม่ได้หยุดแค่หนังสือทั่วไป แต่ลามไปถึง “หนังสือเรียน” นั่นคือจุดที่ไม่ใช่แค่การละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องของการศึกษาโดยตรง สมมติว่าเนื้อหาถูกเปลี่ยน โดยที่เราไม่รู้ เราจะรู้ได้อย่างไร เพราะเนื่องจากธุรกิจหนังสือเรียนก็มีจำนวนมาก โดยดูได้จากโรงเรียนในประเทศไทย
ท้ายที่สุดแล้วความเสียหายที่เกิดจากการปลอมแปลงหนังสือไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเงิน แต่มันคือการทำลายความน่าเชื่อถือของทั้งอุตสาหกรรม เมื่อของปลอมสามารถขายได้ นั่นแปลว่าเคยมีการลอง และประสบความสำเร็จมาแล้ว และนั่นก็เป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างยิ่ง
“บางครั้งสังคมเราอาจละเลยคุณค่าของหนังสือ และมองข้ามความสำคัญของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ไป” คุณองอาจ กล่าว
Advertisement