การจดทะเบียนรับรองบุตร มีเงื่อนไขอย่างไร ขั้นตอนแบบไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง
บิดามารดาของเด็กเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากบิดาประสงค์จะให้บุตรของตนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
1) บิดามารดาได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
2) บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร
3) ศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา
• สถานที่ติดต่อการจดทะเบียนรับรองบุตร
สำนักทะเบียนอำเภอ ทุกแห่ง หรือสำนักงานเขตในพื้นที่ กทม. ที่ใดก็ได้
• เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรับรองบุตร
- บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
- หนังสือยินยอม (กรณีฝ่ายมารดาหรือเด็กไม่สามารถมาให้ความยินยอมด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
- คำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (ใช้แทนกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถให้ความยินยอมได้)
- พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายบิดา มารดา และบุตรในการจดทะเบียนรับรองบุตร
• ขั้นตอนการจดทะเบียนรับรองบุตร
- บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนา
- เด็กและมารดาเด็กต้องมาให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรด้วยตนเองหรือมีหนังสือให้ความยินยอมแทนได้
- หากเด็กและมารดาเด็กหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
- นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคลลของบิดา มารดา และเด็ก และเอกสารหลักฐานข้างต้น
- นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11) ให้ครบถ้วน
- ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11) หากมีหนังสือให้ความยินยอมจากมารดาหรือเด็ก หรือทั้งสองฝ่าย ให้ลงรายละเอียดหนังสือยินยอมนั้นแทนการลงลายมือชื่อ
- เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11)
• ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรับรองบุตร
- จดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน ฉบับละ 200 บาท โดยให้ผู้ขอจัดพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร
- การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
Advertisement