จากกรณีที่ พลโทหญิง มาลี โสเจียตา โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่า เข้าสู่วันที่ 5 ของเหตุการณ์ที่ไทยมารุกรานกัมพูชา และยังคงโจมตีกัมพูชาด้วยอาวุธหนักทุกชนิด ถือเป็นการละเมิดกฎกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรอาเซียน
ที่สำคัญในแถลงครั้งนี้มีการกล่าวหาว่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28ก.ค.68) ไทยใช้อาวุธเคมีอย่างแก๊สพิษมาใช้โจมตีในหลายพื้นที่ พร้อมกันนี้โฆษกกลาโหมกัมพูชา ยังโต้ข้อกล่าวหาล่าสุดที่ไทยระบุว่า กัมพูชาใช้จรวดพิสัยไกล PHL-03 ยิงเข้ามาในเขตแดนไทย ว่าไม่มีมูลความจริง
โดยจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น พลโทหญิงมาลี ระบุว่า ทำให้ประชาชนกัมพูชา 134,707 คน จากเกือบ 40,000 ครอบครัวใน 4 จังหวัดต้องอพยพจากถิ่นฐานกลายเป็นผู้ลี้ภัย รวมทั้งโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนก็ต้องปิดทำการเรียนการสอนอีก 600 แห่ง
ล่าสุด พล.ต.วิทัย ลายถมยา โฆษกกองทัพไทย ชี้แจงและขอปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อคำกล่าวอ้างของ พลโทหญิง มาลี โสเจียตา โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ที่ระบุว่ากองทัพไทยได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาและใช้อาวุธเคมีในการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และเป็นการบิดเบือนข้อมูลอย่างร้ายแรง
โฆษกกองทัพไทย ยังระบุว่า ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายในการพัฒนา ผลิต ครอบครอง หรือใช้อาวุธเคมีในทุกกรณี โดยยึดมั่นในพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention - CWC) อย่างเคร่งครัด ทั้งยังปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักมนุษยธรรมสากล โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของพลเรือนผู้บริสุทธิ์
ในทางกลับกัน โฆษกกลาโหมกัมพูชา กลับใช้ “ข้อมูลข่าวสารปลอม” (Disinformation) เป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในสายตาประชาคมโลก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เพียงแต่ขาดความรับผิดชอบ แต่ยังถือเป็นการกระทำที่แฝงด้วยเล่ห์เพทุบาย บิดเบือนความจริง และเป็นภัยต่อสันติภาพในภูมิภาค
กองทัพไทยมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติและความปลอดภัยของประชาชน ตามหลักการสากลและสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ การดำเนินการของฝ่ายไทยจึงเป็นการตอบสนองที่จำเป็นและยับยั้งภัยคุกคามจากฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้เปิดฉากการยั่วยุและการใช้กำลังก่อน
ประเทศไทยจะไม่ยอมให้ความเท็จของฝ่ายใดมากลบเสียงของความจริง และจะดำเนินการชี้แจงต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างถึงที่สุด เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมที่บิดเบือน เสื่อมเสีย และละเมิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมของผู้นำกัมพูชา ซึ่งอาจเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” อย่างชัดเจน
ประเทศไทยขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงพฤติกรรมดังกล่าว และร่วมกันประณามการใช้ข้อมูลเท็จเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงในเวทีสากล
Advertisement