วันที่ 21 ก.ค. 68 นาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีชาวกัมพูชาบางส่วนออกมาเคลมว่า “อักษรไทย” มาจาก “อักษรเขมร” นั้นว่า ขอเรียนว่าประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้มีมาอย่างยาวนาน หลายพันปีชาวเขมรที่ออกมาทำแคมเปญนี้ น่าจะเกิดไม่ทันการประดิษฐ์อักษรในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน
ขอเรียนว่าก่อนจะออกมาเคลม “โร บ็อฮ คญม” (แสดงความเป็นเจ้าของ) ควรต้องยึดประวัติศาสตร์โบราณ โดยอักษรของประเทศในภูมิภาคนี้มาจากอักษร “ปัลลวะ” ซึ่งเป็นอักษรแรกเริ่มที่เข้ามาในดินแดนในทวีปนี้ ในสมัยที่ยังไม่มีการแบ่งเขตดินแดน หรือกำหนดเป็นประเทศชาติใดๆ เหมือนเช่นปัจจุบัน ซึ่ง “ปัลลวะ” เป็นต้นแบบการพัฒนาการของตัวอักษรต่างๆ ในทุกประเทศแถบนี้มาหลายพันปี
นักประวัติศาสตร์ระบุว่าอักษรไทย หรือสยาม หรือชนชาติไทยในหลายสมัยแต่โบราณ มาจากจารึกของ “ปัลลวะ” ซึ่งคือต้นแบบตัวอักษร ต่อมากลายมาเป็นต้นแบบตัวอักษรใน พม่า มอญ ไทย เขมร ลาว ไล่ลงไปจนกระทั่งถึง ตัวอักษรในชวา บาหลี รวมถึงเวียดนาม ซึ่งหลายยุคหลายสมัยมีต้นกำเนิดมาจากชาว “ปัลลวะ” ในอินเดียโบราณทั้งสิ้น
อักษรของ “ปัลลวะ” ในสมัยที่แผ่อิทธิพลด้านภาษาเข้ามาในภูมิภาคนี้ ขณะนั้นก็ยังไม่มีการกำหนดเป็นประเทศ หรือเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อุษาคเนย์” โดยในยุคสมัยนั้นจะมีลักษณะเป็นเจ้าผู้ครองนคร มีหัวเมือง ซึ่งแต่ละนครหรือเมืองก็จะมีพลเมือง ที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน อาทิ รูปพรรณ วิถีการดำรงชีวิต และภาษา
“ปัลลวะ”เป็นต้นกำเนิดของอักษรทั้งหมดที่ ชาวจาม แขมร์ ขอม สยาม ลาว นำมาพัฒนาใช้ ส่วนมอญในยุคนั้น ได้ถูกพัฒนามาเป็นอักษรพม่า ในปัจจุบัน
“การมาปลุกกระแสอักษรเขมรเช่นนี้ แสดงถึงความไม่สนใจไม่ใส่ในประวัติศาสตร์ของทวีปเอเชียของคนหลงยุคกลุ่มนี้ และรังแต่จะแสดงความขัดแย้งไปยังประเทศอื่นๆ เพราะหลายประเทศในทวีปเอเชีย ล้วนแล้วแต่มีรากฐานของภาษามาจากแหล่งเดียวกัน” นายจิรายุ กล่าว
Advertisement