นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom ล่าสุดว่า "เตือนสตินายสมศักดิ์"
"ผมคิดว่า คณะทำงานที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ตั้งขึ้นมา 10 คน ให้มาช่วยพิจารณามติแพทยสภา ดูแล้วน่าจะผิดทิศผิดทาง มีความเสี่ยงที่จะทำให้ นายสมศักดิ์ ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"
1. เรื่องมติแพทยสภา เป็นเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่คณะทำงานที่ตั้งขึ้น 10 คน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญกฏหมาย 8 คน แต่เป็นแพทย์ 2 คน คุณจะเอานักกฏหมายมาพิจารณาจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์หรือ
2. ถ้าดูตามขั้นตอนของกฏหมาย อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ในฐานะสภานายกพิเศษ มีอำนาจเพียง "เห็นชอบหรือยับยั้งมติแพทยสภา" นั่นคือ เห็นชอบหรือไม่ ที่จะตักเตือนแพทย์ 1 คน และพักใบประกอบวิชาชีพแพทย์อีก 2 คน
ถ้าคุณไม่เห็นชอบ คุณมีเหตุผลทางการแพทย์อะไรมาสนับสนุน เพื่อที่จะลดหรือเพิ่ม ความหนักเบาของโทษทางจริยธรรม ซึ่งมี 4 ระดับคือ
2.1 ว่ากล่าวตักเตือน
2.2 ภาคทัณฑ์
2.3 พักใช้ใบอนุญาตมีกฎหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี
2.4 เพิกถอนใบอนุญาต
3. ขณะนี้คำสั่งแพทยสภาที่เป็นทางการ ยังไม่ได้ออกมา เพราะทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอน การที่แพทย์ 2 คน อ้างข้อมูลใหม่ ตลอดจนหลักฐานต่างๆ มาร้องขอความเป็นธรรม จึงมีความเสี่ยงที่มีการแทรกแซง การพิจารณาคดีจริยธรรมโดยฝ่ายการเมือง
การร้องขอความเป็นธรรม จึงไม่ใช่ขั้นตอนนี้ ต้องรอให้ทุกอย่างจบ และมีคำสั่งแพทยสภาออกมาเป็นทางการ เขาจึงสามารถไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ การมาร้องระหว่างการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงคดีสูงมาก
สิ่งที่ นายสมศักดิ์ ต้องรู้ ถ้าหากคุณยับยั้งมติแพทยสภา ที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์สนับสนุน และไปเอาข้อมูลที่แพทย์มาร้อง มาเป็นเหตุผล ผมเชื่อว่ามีคนไปร้อง 157 ต่อ ป.ป.ช. แน่
ที่สำคัญถ้าคุณยับยั้ง หากแพทยสภามีมติไม่ถึง 2/3 ของคณะกรรมการทั้งหมด ไม่ใช่ทุกอย่างจบนะ กฏหมายยังให้คณะกรรมการฯแพทยสภา เริ่มต้นลงมติเพื่อลงโทษใหม่ โดยใช้ชุดข้อมูลของอนุกรรมการสอบสวนชุดเดิม เพราะกฏหมายให้ความสำคัญกับความจริงที่อนุสอบสวนสอบมา คุณอย่าคิดว่า ทุกอย่างจะจบลงง่ายๆ
Advertisement