วันที่ 14 พ.ค. 68 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาใน 2 คดี ที่เกี่ยวกับการร้องเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา คือคดีที่ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว และคณะสว.สำรอง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร และคณะ (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 92 คน ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อ และยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา ขอให้ส่งคำร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนและดำเนินการกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากเหตุเสนอเรื่องการขออนุมัติให้การดำเนินคดีความผิดฐานอั้งยี่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นสิทธิพิเศษ
อีกทั้งการเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพ.ต.อ.ทวี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ เนื่องจากเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภา กระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือของหน่วยงานราชการ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (1)
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (5) นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง เพื่อให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับเลือกรับเป็นสมาชิกวุฒิสภา (บัญชีสำรอง) มิได้มีสถานะเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา เมื่อส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และมิได้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ขณะเดียวกันก็มีมติเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องของ พล.ท.ยอดชัย ยั่งยืน อดีตรองผอ.กอ.รมน ภาค 1 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อ้างถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพจากการกระทำของ กกต. ผู้ถูกร้อง ที่ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4) อีกทั้งการที่ กกต.ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 ลงวันที่ 11 เม.ย.67 กำหนดให้ลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐสามารถลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภากลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัคร การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และเป็นโมฆะ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (1) และ (2 )
โดยศาลฯเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบ คำร้อง ปรากฏว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ส่วนกรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นโมฆะนั้น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้อง หรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
Advertisement