Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทำไมต้องยุบสภา ประเทศไทยเคยยุบสภาฯ มาแล้วกี่ครั้ง?

ทำไมต้องยุบสภา ประเทศไทยเคยยุบสภาฯ มาแล้วกี่ครั้ง?

13 พ.ค. 68
12:02 น.
แชร์

ทำไมต้อง "ยุบสภาผู้แทนราษฎร" แล้วประเทศไทยเคยยุบสภาฯ มาแล้วกี่ครั้ง แต่ละครั้งอ้างเหตุผลอะไร ?

นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกศรองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำระบบรัฐสภามาใช้ตามหลักการแบ่งแยกผู้ใช้อำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตลุาการ

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่ใช้อำนาจทั้งสาม ระบบรัฐสภาของไทยมิได้ยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดแบบระบบประธานาธิบดี กล่าวคือ มีบทบัญญัติกำหนดให้ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิตินิติบัญญัติดุลหรือคานอำนาจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติควบคุมฝ่ายบริหาร โดยการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หากคะแนนเสียงของฝ้ายนิติบัญญัติมีจำนวนตามที่กำหนด ก็จะทำให้ฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรืออาจส่งผลให้คณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี พ้นจากตำแหน่งก็ได้

ส่วนฝ่ายบริหาร มีเครื่องมือทางการเมืองที่จะควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือ "การยุบสภาผู้แทนราษฎร" แต่จะสังเกตได้ว่าเป็นการควบคุมโดยผ่านประมุขของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรี เสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ในต่างประเทศรัฐบาลที่กำลังได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน อาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ บางครั้งถูกใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกรณีเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 14 ครั้ง แต่ละครั้งมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป เป็นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจ เพื่อจะได้ทราบความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกี่ยวกับการยุบสภาที่ผ่านมาแต่ละครั้ง สำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) รวมทั้งบทบัญญัติของรัฐธรรรมนูญที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้งรวมทั้งแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาฯ ไว้ในมาตรา 103 ว่า...

"พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร"

ไทยยุบสภาฯ มาแล้ว 14 ครั้ง ?

ครั้งที่ 1 วันที่ 11 กันยายน 2481 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะแพ้มติในสภาฯ กรณีญัตติขอแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายฯ

ครั้งที่ 2 วันที่15 ตุลาคม 2488 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะ มีความขัดแย้งปมกฎหมายอาชญากรสงคราม

ครั้งที่ 3 วันที่ 12 มกราคม 2519 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะมีขัดแย้งใน ครม. และปัญหาเรื้อรังของรัฐบาล

ครั้งที่ 4 วันที่ 19 มีนาคม 2526 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะคัดค้านแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ครั้งที่ 5 วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินไม่ผ่าน รัฐบาลไร้เสถียรภาพ

ครั้งที่ 6 วันที่ 29 เมษายน 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ พรรคการเมืองไม่มีเอกภาพ

ครั้งที่ 7 วันที่ 30 มิถุนายน 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะวิกฤตการณ์หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ครั้งที่ 8 วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะพรรคการเมืองแตกแยกไม่มีเอกภาพ

ครั้งที่ 9 วันที่ 28 กันยายน 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะเสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง

ครั้งที่ 10 วันที่ 9 พฤศจิายน 2543 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีเวลาในการหาเสียงก่อนเลือกตั้งนานขึ้น

ครั้งที่ 11 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะม็อบชุมนุมต่อต้านนายกฯ ที่ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์พวกพ้อง

ครั้งที่ 12 วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีเวลาในการหาเสียงก่อนเลือกตั้งนานขึ้น

ครั้งที่ 13 วันที่ 9 ธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะมีการชุมนุมทางการเมืองเข้าขั้นวิกฤตจนบานปลาย

ครั้งที่ 14 วันที่ 20 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะเปิดทางให้ สส. ย้ายพรรคเร็วขึ้นทันกำหนด เตรียมเลือกตั้งใหม่ตามกรอบปฏิทิน

ครั้งที่ 15 .......?

ขอบคุณข้อมูล : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

แชร์
ทำไมต้องยุบสภา ประเทศไทยเคยยุบสภาฯ มาแล้วกี่ครั้ง?