Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม

กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม

6 พ.ค. 68
21:35 น.
แชร์

กพช. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าประจำงวดปลายปี 2568 ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ยืนยันไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน และให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2568) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาแนวทางการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1)รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการปรับค่า Ft จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีการนำเงินเรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกินจากการไฟฟ้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าผ่านการปรับค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2568 อยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย 2) มอบหมายให้ กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2568 ในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ดำเนินการทั้งหมดโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

นายพีระพันธุ์ฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 – 2573 และเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีราคาลดลง

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ กกพ. 3 การไฟฟ้า และ สนพ. เจรจากับผู้ประกอบการเอกชนที่ กกพ. ประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับสิทธิขายไฟฟ้ารายการ 2,180 เมกะวัตต์ โดยอ้างอิงราคาที่ กฟผ. ได้ดำเนินการ เพื่อปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวลง ตามข้อสังเกตที่นายพีระพันธุ์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอ ทั้งนี้ให้คำนึงที่ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ได้ลงทุนไปแล้วด้วย

นายพีระพันธุ์ฯ ยังเปิดเผยต่อว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการปริมาณไฟฟ้า 1,488.5 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือจากการรับซื้อในกลุ่ม 2,180 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมอบหมายให้ สนพ. ศึกษาทบทวนอัตรา

รับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งนี้ จะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจนกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช.

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญของแนวทาง ดังนี้ (1) โรงแยกก๊าซธรรมชาติทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (Utility) ในการให้บริการปรับปรุงคุณภาพและแยกผลิตภัณฑ์ให้กับผู้รับบริการทุกราย โดยกำหนดผลตอบแทนการลงทุนจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับที่เหมาะสม (2) ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Sales Gas) ที่นำมาคำนวณใน Pool Gas ควรมีราคาที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (Gulf Gas) โดยนำมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ C2+ ที่ได้รับจากการจำหน่ายมาเป็นส่วนลดราคา (Discount) ในสัดส่วนที่เหมาะสม

(3) กำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ก๊าซฯ ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย (Gulf Gas) ก๊าซฯ ที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก๊าซฯ สำหรับภาคไฟฟ้า และ NGV ให้ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซฯ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ ก๊าซฯ จากเมียนมา และ LNG ตามลำดับ และก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG ซึ่งใกล้เคียงราคาที่ซื้อขายจริงในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่นี้ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง และไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี

โดยการดำเนินการต่อไป สนพ. จะดำเนินการหารือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศช. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการค้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อสรุปหลักการและจัดทำแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียด เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

Advertisement

แชร์
กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม