Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"สนธิญา" บุก ป.ป.ช. ยื่นหลักฐาน  "พีระพันธ์" ถือหุ้น 4 บริษัทเพิ่ม

"สนธิญา" บุก ป.ป.ช. ยื่นหลักฐาน "พีระพันธ์" ถือหุ้น 4 บริษัทเพิ่ม

2 พ.ค. 68
14:21 น.
แชร์

"สนธิญา" บุก ป.ป.ช. ยื่นหลักฐาน "พีระพันธ์" ถือหุ้น 4 บริษัทเพิ่ม เรียกร้อง "แพทองธาร" ตรวจสอบหวั่นซํ้ารอย "เศรษฐา"

วันที่ 2 พ.ค. ที่ป.ป.ช. นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางมายื่นหลักฐานเพิ่มเติม หลังจากที่เคยยื่นให้มีการตรวจสอบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากเป็นกรรมการบริษัทและถือหุ้น บจ.รพีโสภาค และถือหุ้นในบริษัทอื่นรวม 4 บริษัท อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.หุ้นส่วน และหุ้นของคณะรัฐมนตรี และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561

โดยพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในงบการเงิน

รอบบัญชี วันที่ 1 มิถุนายน 2566 -31 ธันวาคม 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค มารดาเสียชีวิต ในส่วนของหุ้นเป็นมรดกไม่จัดการปันทรัพย์มรดก แต่เจตนายึดถือไว้เป็นประโยชน์ส่วนตน เกินระยะเวลา 5 ปี เป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะหุ้นเป็น สังหาริมทรัพย์ชนิดหนึ่ง ตรวจสอบทรัพย์สินเพิ่ม 21 ล้านเศษ ทั้งกู้ยืมเพื่อลงทุน 14 ล้าน ในขณะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และคงสถานะกรรมการ แล้วไปลาออกในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เฉพาะบางบริษัท ถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 167 และเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ ข้อที่ 7 ข้อที่ 8 ข้อที่ 11 ข้อที่ 17 ข้อที่ 22 ข้อกำหนดจริยธรรมฯ 2561 เป็นจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ โดนส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหนังสือที่เคยยื่นไปแล้ว

นายสนธิญา กล่าวภายหลังเข้ายื่นหลักฐานกับ ป.ป.ช.ว่า การยื่นครั้งนี้ ตนมีความไม่สบายใจ เพราะไปยื่นบุคคลที่ตนรักและเคารพ และขอเรียนว่า ตนเคยเป็นสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ได้ลาออกไปในช่วงลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ลูกสาวของตน ก็ยังคงเป็นสมาชิกพรรค

นายสนธิญา กล่าวว่า หากดูใบบริคณห์สนธิ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้ง 4 บริษัทยังมีชื่อบุคคลที่ตนร้อง ดังนั้น ตนขอให้นายพีระพันธุ์ออกมาชี้แจงกับสังคมให้ชัดเจน ว่าทําไมในเอกสารที่ตนได้รับมา จึงมีชื่อท่านเป็นหุ้นส่วน และไม่มีชื่อเป็นกรรมการผู้จัดการ เพราะเอกสารที่ตนมี มาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่พึ่งผ่านมาไม่กี่วัน

นายสนธิญา กล่าวว่า ตนขอเรียนไปถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าขอให้มีการตรวจสอบ คัดรายชื่อบริษัทที่เป็นข่าว ว่านายพีระพันธ์มีรายชื่อเป็นกรรมการบริหารกับมีหุ้นส่วนหรือไม่ เพื่อให้เรื่องกระจ่าง และให้ท่านตัดสินใจว่าเรื่องนี้ผิดหรือถูก เพราะหากทั้ง 4 บริษัทนี้ยังมีชื่อนายนายพีระพันธุ์ เป็นกรรมการบริหารหรือผู้ถือหุ้น ก็จะเกี่ยวพันไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายสนธิญา กล่าวต่อว่า 2 ประการที่ตนไปยื่นให้ไต่สวน ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ป.ป.ช. และในสัปดาห์หน้า ตนก็จะไปยื่นกกต. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยและตรวจสอบ หาข้อเท็จจริงว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังถือหุ้นอยู่ในทั้ง 4 บริษัทหรือไม่อย่างไร และขอให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบข้อมูลนี้ว่าจริงหรือเท็จอย่างไร เพื่อที่จะไม่ได้โดนบุคคลอื่นร้อง เหมือนกับนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้ตนเองจะส่งเอกสารให้ครบถ้วนกระบวนความ แล้วจะไปส่งให้กับกกต.ในวันที่ 26 นี้ ทั้งหมด 3 ชุดชุดที่ 1 ไปผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 2 มายื่นที่ป.ป.ช. 2 เรื่อง แล้วชุดที่ 3 จะยื่นให้กกต.

เมื่อถามว่า หากเรื่องนี้ผิดจริงนายกรัฐมนตรี จะโดนเหมือนนายเศรษฐาหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า เห็นมีนักกฎหมายบางคนที่ออกมาเขียนกรณีของนายพีระพันธ์ ถ้าเป็นไปตามกระบวนการเรียกร้องต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะอยู่สภาพเดียวกันกับอดีตนายกฯเศรษฐา แต่ในการร้องของตนนั้นร้องในลักษณะไต่สวนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายสนธิญา ยังกล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 8 ว่า มองว่าเป็นการหาเสียงที่โกหก เป็นการปราศรัยในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเชื่อ หรือการสัญญาว่าจะให้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีธรรมราช อาจจะเป็นปัญหาในการเลือกตั้ง

Advertisement

แชร์
"สนธิญา" บุก ป.ป.ช. ยื่นหลักฐาน  "พีระพันธ์" ถือหุ้น 4 บริษัทเพิ่ม