ศธ. ค้านนักวิชาการเสนอหยุด เรียนออนไลน์ 1 ปี ชี้มีผลเสียมากกว่าผลดี

10 ส.ค. 64

นักวิชาการเสนอหยุดเรียน 1 ปีเหตุเรียนออนไลน์ทำการศึกษาถดถอย ด้านคุณหญิงกัลยา รมช.ศธ.ค้าน ชี้หยุดเรียนมีผลเสียมากกว่าผลดี ขณะที่ กพฐ.มองเป็นการหนีปัญหา ควรใช้โอกาสพัฒนาวิธีการเรียนการสอน

จากกรณี รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน เสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบกับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และนักเรียนชั้นประถมอย่างมาก ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการศึกษา เปิดเผยผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลก ระบุว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปี ทำให้การศึกษาถดถอย 20-50% และเป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนั้น โดยเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกล้าตัดสินใจ และเลิกกลัวเกินกว่าเหตุนั้น 

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้หากจะให้นักเรียนหยุดเรียน 1 ปี เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่ง ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำโครงการสอนออนไลน์ Project 14 โดยรวบรวมบทเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ชั้น ป.1- ม.6 ขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน โดยมีแอนิเมชั่นประกอบ เพื่อช่วยให้ผู้เรียน รู้สึกสนุก จดจำง่าย และเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น โดยเน้นความเข้าใจเชื่อมโยงกับชีวิตจริง มีเนื้อหาตรงตามหลักสูตรแกนกลาง และหนังสือเรียนของ สสวท.

“ครูสามารถนำบทเรียนนี้ไปประกอบการสอนได้เลย ช่วยทำให้เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้จากยากให้ง่ายขึ้น มีความสนุก มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ สสวท.ได้จัดทำสื่อการสอนออนไลน์ไปมากกว่า 2,000 ชุดแล้ว” คุณหญิงกัลยา กล่าว 

210782242_3486761251426380_22

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มองว่าการเรียนออนไลน์จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2564 เพราะรัฐบาลได้วางแผนไว้ว่าจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากที่สุดภายในสิ้นปี 2564

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า ในอนาคตเชื่อว่าแม้เชื้อโควิด-19 จะหายไป หรือครูและนักเรียน จะได้รับวัคซีนจนสามารถกลับมาสอนในห้องเรียนตามปกติได้แล้ว แต่การเรียนการสอนในบางวิชาอาจเปลี่ยนรูปแบบแล้ว โดยเชื่อว่าการเรียนในอนาคต เด็กอาจจะไม่ต้องลงทะเบียนเรียนแต่สามารถเรียนออนไลน์จากใครก็ได้ และเมื่อถึงเวลาทดสอบเลื่อนระดับชั้น ก็ขอยื่นเข้ารับการทดสอบกับโรงเรียนไหนก็ได้ โดมีแบบทดสอบวัดระดับชั้นที่เชื่อถือได้ เมื่อนักเรียนผ่านการทดสอบ โรงเรียนจะออกเอกสารรับรองว่านักเรียนมีความรู้เทียบเท่ากับระดับชั้นอะไร

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับหยุดเรียนทั่วประเทศ และในฐานะนักบริหารการศึกษา ต้องสามารถใช้ปัญหาที่มี สร้างโอกาสใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจะหนีปัญหา หรือหยุดปัญหา เพราะทุกปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาทั้งสิ้น ควรใช้สถานการณ์โควิด-19 สร้างลักษณะนิสัยในการนำตนเองในการเรียนรู้ของเด็ก (SDL) สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างดีในยุคดิจิทัลนี้ ส่วนครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา จะต้องเรียนรู้ ปรับตัวการทำงานในยุคชีวิตวิถีใหม่ของการจัดการศึกษา ถ้าคิดจะหยุดอยู่กับที่แล้วรอเปิดสอนตามปกติ ก็หมดยุคแล้ว 

ส่วนปัญหาการเรียนออนไลน์ที่พบ มองว่าควรนำมาวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ว่ามาจากอะไรบ้าง เช่น อาชีพผู้ปกครอง อุปกรณ์และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ เวลาที่เรียน วัยของผู้เรียน ระดับชั้นที่เรียน เนื้อหาที่ให้เรียน วิธีสอนของครู การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น แล้วนำสาเหตุเหล่านี้มาหาแนวทางแก้ปัญหา โดยการเรียนออนไลน์ไม่ได้สร้างปัญหาทุกคน แต่อาจเกิดปัญหาบางกลุ่ม บางระดับ บางอาชีพผู้ปกครอง ควรหยุดคิดแทนเด็กได้แล้ว  

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ