เปิดนาทีก่อนเด็กพูดคนเดียว เจอคำตอบเสียงปริศนา “ครับ” - หมอจิตห่วงอย่าล้อ ไม่ใช่โรคร้าย (คลิป)

22 ก.ย. 61
กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์คลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.ภูเก็ต ขณะกำลังพาลูกสาวกลับบ้านหลังเลิกเรียน โดยปรากฏว่าลูกสาวยืนคุยคนเดียว ซึ่งแม่ก็ถามลูกสาวว่าคุยกับใคร ขณะที่เด็กตอบว่าคุยกับน้องตัวเล็กใส่รองเท้าสีชมพู ที่ยืนอยู่ที่บันไดของอาคารเรียน ทั้งที่โดยรอบกลับไม่เห็นเด็กคนอื่นแต่อย่างใด ภายหลังได้มีกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ได้ออกมาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดนั้น (อ่าน : มโนเรื่องผี! หมอชี้คลิปเด็กพูดคนเดียว มาจากจินตนาการ แนะกอดช่วยได้ มอบรัก ลดเครียด)
ภาพจากคลิปเหตุการณ์น้องอิ่มเอม พูดคุยกับคนในจินตนาการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ครูจุ๊ ทักษพร แม่น้องอิ่มเอม เคยเล่าว่า วันที่ถ่ายคลิป ไม่ได้มีแค่น้องในคลิปคนเดียว แต่มีเด็กเดินมา 3 คน แต่วิ่งลงไปด้านล่างของอาคารก่อน ส่วนขาที่เห็น ก็เป็นขาเด็กนักเรียนประถม
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
วันที่ 21 ก.ย. 61 พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า การที่น้องอิ่มเอมถูกเพื่อนล้อว่าเป็นเด็กเห็นผีนั้น จะส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะการที่เพื่อน ๆ ล้อน้อง ก็เป็นเสมือนการรังแกในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าปล่อยไว้ในระยะยาว อาจทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นปมด้อยของเด็ก อาจทำให้เด็กกลัวและไม่มีความมั่นใจ เพราะคิดว่าตัวเองต่างจากคนอื่น
ภาพจำลองเหตุการณ์น้องอิ่มเอม พูดคุยกับคนในจินตนาการ
ทั้งนี้ ตนอยากให้ผู้ปกครองรับฟังและเห็นใจเด็ก และไม่ควรต่อว่าเด็ก อย่างเช่น "เพราะพูดคนเดียวไง เพื่อนถึงล้อ" เนื่องจากจะเป็นการตอกย้ำเด็ก และอาการในลักษณะนี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นการพัฒนาการของเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยมักจะมีเพื่อนในจินตนาการ เด็กจะค่อย ๆ รู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง และเพื่อนในจินตนาการจะค่อย ๆ หายไปในช่วงอายุ 7 ขวบ
ภาพจำลองเหตุการณ์น้องอิ่มเอม พูดคุยกับคนในจินตนาการ
ภาพจำลองเหตุการณ์น้องอิ่มเอม พูดคุยกับคนในจินตนาการ
พญ.วิมลรัตน์ ได้แนะนำว่า ให้ผู้ปกครองเตือนเด็กให้เก็บเพื่อนในจินตนาการไว้เล่นคนเดียว เมื่อเด็กไปสู่โลกภายนอกก็ควรให้เด็กได้มีสังคมของเพื่อนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ แต่หากเด็กไม่ยอมคบเพื่อนหรือเข้าสังคม และเอาแต่ติดอยู่ในโลกของจินตนาการ ในลักษณะนี้ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษา ไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบในภายหลังได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ