เปิดใจ “จตุพร” 1 ปี 15 วัน ในคุกเหมือนสุสานคนเป็น ได้ปรับทุกข์ "สนธิ-พุทธะอิสระ" (คลิป)

6 ส.ค. 61
ภายหลังจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวาน (4 ส.ค.) ในคดีหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยในที่ชุมนุม นปช.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
วันที่ 5 ส.ค.61 ที่สถานีโทรทัศน์ Peace TV บริเวณห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้จัดงาน "หัวใจผูกพัน" เพื่อเป็นงานต้อนรับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กลับสู่อ้อมกอดกลุ่มคนเสื้อแดง โดยแกนนำคือนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ งานดังกล่าวจัดขึ้น นายจตุพร เล่าเรื่องราวชีวิตในเรือนจำตลอดระยะเวลา 1 ปี 15 วัน ให้ทีมข่าวฟังว่า การเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ถือเป็นครั้งที่นานที่สุด และเป็นครั้งที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ไม่นานก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ตนมองว่าขณะที่อยู่ภายในเรือนจำ ไม่ควรมีความทุกข์แล้วควรมองทุกเรื่องอย่างมีความสุข
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และประชาชนที่มารอรับ
นายจตุพร เผยว่า กิจวัตรประจำวันที่ทำตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ คือ ทุกเช้าจะตื่นนอนเวลา 03.30 น. เพื่อเตรียมตัวสวดมนต์ ต่อมาเวลาประมาณ 04.00 น. ก็จะสวดมนต์ด้วยตนเองเพียงลำพัง จากนั้นจะสวดมนต์ต่อพร้อมกับนักโทษรายอื่นในเรือนจำ เวลา 05.00 น. จนจบเวลาประมาณ 06.00 น. หลังจากนั้นออกจากเรือนนอนก็กรวดน้ำ และจะออกกำลังกาย หลังจากนั้นช่วงเย็นเป็นเวลาสำหรับต้อนรับกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาเยี่ยม และกลับเรือนนอน เวลา 15.30 น. ปกติแล้วใช้เวลาอยู่ในห้องนอนวันละ 15 ชม. ส่วนตัวมองว่า หากไม่มีความทุกข์ เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว และยังรู้สึกว่าการอยู่ในเรือนจำ เหมือนการบวช เนื่องจาก หลังจากเวลา 12.00 น. จะไม่ทานอาหาร โดยในแต่ละวันทานอาหารเพียงวันละ 2 ครั้ง คือ 06.30น. และ 11.30น. ซึ่งในเรือนจำจะเป็นแบบนี้ทุกวัน ไม่มีอะไรใหม่ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การต่อสู้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่สะท้อนอะไรให้กับตนเองและสังคมได้รับทราบ นายจตุพร กล่าวว่า บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีคำพูดหนึ่งที่ได้เคยพูดไว้ว่า “ทางเลือกของการต่อสู้มีเพียง 2 ทาง คือ หากไม่ตาย ก็ติดคุก ดังนั้น ความตาย และอิสรภาพจึงเป็นของคู่กัน” นายจตุพร กล่าวต่อว่า เวลาอยู่ในเรือนจำ หากมีความทุกข์ ให้นึกถึงบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เมื่อตัดสินใจได้ว่า จะต่อสู้ทางการเมือง ไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เรื่องของการต่อสู้เพื่อบ้านเมือง คือการต่อสู้กับคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน
ชาวบ้านที่มอบของให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
นายจตุพร กล่าวถึงเรื่องการพูดคุยกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และอดีตพระพุทธะอิสระ ที่ได้เคยเจอกันในเรือนจำ ว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ ไม่มีความแค้นใดๆ เพราะความแค้น คือการทำร้ายตัวเอง เมื่อมีโอกาสได้พบกันจึงพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยความเข้าใจ ในเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ เรียกได้ว่าเป็นการปรับทุกข์ ส่วนตัวมองว่า “เรือนจำ เหมือนสุสานคนเป็น” ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่ทำให้ทะเลาะกัน นอกจากนี้ นายจตุพร เผยว่า ตลอดระยะเวลาในการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา สิ่งที่มองเห็นมาโดยตลอด คือ เหตุการณ์ปี 2535 และปี 2553 ทั้ง 2 เหตุการณ์ มีคนเสียชีวิต ประมาณ 200 คน ถือได้ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในการชุมนุมทางการเมือง สิ่งที่พยายามทำ คือ การหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เพราะการสูญเสีย เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่า การชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด ไม่ควรมีการสูญเสียเกิดขึ้น หากทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติ และร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับทุกฝ่าย ก็ไม่เกิดการสูญเสีย ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อผ่านเหตุการณ์เลวร้าย และกลับมาทบทวนว่า “หากการเมืองเริ่มต้นด้วยความเลวร้าย ก็จะจบด้วยการรัฐประหารอย่าไม่รู้จักจบสิ้น” สุดท้ายประชาชน คือ ผู้สูญเสีย ทั้งนี้ นายจตุพร กล่าวทิ้งท้ายว่า นปช. ให้ความร่วมมือกับการเข้าสู่แนวทางการปรองดองทุกครั้ง ส่วนตัวคิดว่า ไม่มีฝ่ายใดจะได้ทุกอย่าง อยากให้ใช้หลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และถอยกันคนละก้าวเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ คือหนทางที่ดีที่สุด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ