ก๊วนครูยัน ขู่ไม่จ่ายหนี้แค่กลยุทธ์ต่อรอง ลั่นดอกลดชำระ - "ธวัชชัย" ชี้ทาง แต่เบี้ยวก็ตกงาน (คลิป)

18 ก.ค. 61
จากกรณีกลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวกว่า 100 คน ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นอัตราไม่คงที่ (อ่าน : แก๊งครูโต้ชักดาบหนี้ ช.พ.ค. งดจ่ายไม่เรียกเบี้ยว แค่รอชำระถ้ามาเจรจา)
กลุ่มวิชาชีพครู ประกาศปฏิญญามหาสารคาม หยุดชำระหนี้ชั่วคราว
วันที่ 17 ก.ค. 61 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวที่มีกลุ่มครูออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการชำระหนี้ ส่วนตัวมองว่าคล้ายเป็นการชวนกันหยุดชำระหนี้ ตามหลักแล้วการเป็นหนี้ถือเป็นการสมัครใจเป็นหนี้ ไม่ได้มีใครบังคับ ซึ่งทุกอย่างเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้น ทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากนิติกรรมนี้ คือการชำระหนี้คืนโดยสุจริต จะทำการแบบไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่ได้
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
นายธวัชชัย กล่าวว่า ตนมองว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว จะมีผลกระทบกับทั้งครูที่ยังอยู่ในราชการ และครูที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งหากมีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท อาจถูกฟ้องล้มละลายได้ โดยครูที่อยู่ในราชการ ก็จะขาดคุณสมบัติความเป็นครู จากนั้นก็จะเสียรายได้ไปอีก ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ใช่ทางออกจากความเดือดร้อนที่เจออยู่ได้ ซึ่งหากครูถูกฟ้องล้มละลาย ก็จะเสียสิทธิ์ อิสระต่าง ๆ โดยเปรียบคล้ายเป็นอากาศธาตุ เหมือนวิญญาณไม่มีศาลอยู่ ล่องลอยไปเรื่อย รายได้ที่มีขึ้นมา ก็ต้องถูกหักไปชำระหนี้ หากผู้มีหนี้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ก็จะถูกสืบทรัพย์ต่อไป ซึ่งก็จะส่งผลไปถึงคนที่ค้ำประกัน และอาจตกทอดเป็นมรดกหนี้ต่อไปได้ ดังนั้นการมีหนี้ก็ต้องชำระคืน อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายครูคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องดอกเบี้ย หากมีการปรับไม่ตรงตามสัญญา ก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ และหากไม่มีค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ก็สามารถขอเงินจากกองทุนยุติธรรมในการช่วยเหลือได้ โดยสามารถไปติดต่อได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้ทันที หน่วยงานกระทรวงยุติธรรมยินดีช่วยเหลือ
นายธีร์สุริยนต์ สุวรรณวงศ์ เลขาธิการสมาคมช่วยเพื่อนครู
วันที่ 17 ก.ค. 61 นายธีร์สุริยนต์ สุวรรณวงศ์ เลขาธิการสมาคมช่วยเพื่อนครู เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทางกลุ่มจะมีการหารือกัน เพื่อหาแนวทางต่อสู้ต่อไป เพราะกรณีนี้หยุดไม่ได้ และถอยไม่ได้แล้ว ส่วนกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเข้าใจว่าคลิปเพียงสั้น ๆ คงไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมทั้งหมดได้ ซึ่งกรณีนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ตนถือว่ารับได้ แต่ที่มีนักวิชาการ และคนเป็นครูเหมือนกัน ที่เป็นปัญญาชน ตนคิดว่าต้องใช้หลักกาลามสูตร คือหลักความเชื่อ 10 ประการ มาคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งนี้ ส่วนตัวทราบว่า คนเห็นคลิปแล้ว เมื่อได้ดูเนื้อหาอาจจะมองว่า กลุ่มครูจะหยุดชำระหนี้ เบี้ยว ไม่จ่าย ส่วนตัวยืนยันว่า ไม่มีเจตนาจะเบี้ยว แม้คนไปพูดว่านี่คือการชักดาบ ตนมองว่าเป็นเรื่องสนุกปากที่คนพูดกัน อย่างไรก็ตาม นี่คือยุทธศาสตร์ในการเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐให้หันมาสนใจกลุ่มตน และตนอยากให้ลองเปรียบเทียบว่า กลุ่มครูเป็นนักเรียนในชั้นเรียน หากตนป่วยและนั่งนิ่ง ไม่ยกมือบอกครู ครูจะทราบเองหรือไม่ว่านักเรียนกำลังป่วย เช่นเดียวกับที่กลุ่มตนกำลังจะไม่ไหว จึงได้มีการประกาศเรื่องดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานได้เห็นบ้าง นายธีร์สุริยนต์ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มตนทราบดีว่า หากใครที่เป็นหนี้แล้วไม่จ่าย เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่หากกลุ่มไม่ออกมาเคลื่อนไหว ก็ไม่มีหน่วยงานใดออกมาสนใจ พร้อมยืนยันในข้อเรียกร้องที่ออกมาครั้งนี้ ประสงค์ให้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยอยากสอบถามเรื่องเงินประกัน 9 ปี ที่มีการเรียกเก็บไปล่วงหน้า พวกตนได้อะไรจากเงินก้อนนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่า 200% สูงมากไปหรือไม่ ทั้งนี้ ตนเป็นคนของรัฐ อยากถามว่ารัฐว่าจะดูแลได้หรือไม่ จะพอช่วยเหลือได้หรือไม่ ทางกลุ่มต้องการลดดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 1 ให้เทียบเท่ากับกองทุน กยศ. จะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ตามที่ต้องการ แต่การหากมีการเจรจา ก็อยากทราบถึงขีดจำกัดที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ตนมองว่าทำได้ เนื่องจากมีหน่วยงานอื่น ๆ ก็เคยมีเช่นกัน อย่างไรก็ตามตนไม่อยากไปสู้รับ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องสู้
ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นกลุ่มครูพักจ่ายหนี้
เมื่อวาน (16 ก.ค. 61) หลังจากเพจ ทุบโต๊ะข่าว Amarin TV 34 ได้โพสต์ข่าว เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Decha Kittivittayanan เป็นซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า "ดูจากคลิปสาระสำคัญที่ครูแถลงการณ์ ฟัง แล้วชัดเจนว่าเป็นการ ขอพักการชำระหนี้และหยุดชำระหนี้ ก็คือการเบี้ยวนั่นเอง ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น เป็นนิติกรรมสองฝ่าย เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องตกลงกันไม่ใช่ มาประกาศ เจตนารมณ์เอาฝ่ายเดียว ฟังไม่ขึ้น #ทนายคลายทุกข์"

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ