รฟม. เดินเกมประมูล รถไฟฟ้าสีส้ม ต่อทันที หลังศาลปกครองสั่งจำหน่ายคดี

10 มี.ค. 64

รฟม. แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. มีความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

ไม่ทุบแล้ว! วิหารหลวงปู่ทวด 237 ปี รฟม.ยันไม่กระทบพื้นที่โบราณสถาน

1. รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

2. รฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า

เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

3. สืบเนื่องจากการยกเลิกการการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ข้างต้น รฟม. จึงได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ ขึ้นใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน) โดยเริ่มตั้งแต่มาตรา 35 ซึ่งระบุให้ หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) และนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการจัดทำเอกสาร ทั้งนี้ วิธีการและขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนดังกล่าว รฟม. ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 โดยเนื้อหาที่เปิดรับฟังหลักๆ ประกอบด้วย สาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน สาระสำคัญของร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน

4. รฟม. ได้ออกประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา

5. การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นของเอกชน เพื่อนำมาใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ ตามที่ รฟม. เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ เท่านั้น เพื่อที่ รฟม. จะนำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

"ชัชชาติ" ซัด กทม.จ้างวิ่งรถไฟฟ้าให้นั่งฟรี จนหนี้ท่วม 9 พันล้าน แต่ไม่รู้เอางบไหนจ่าย
"บีทีเอส" ทวงค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 8,000 ล้าน กทม.รับไม่มีเงินจ่าย

advertisement

ข่าวยอดนิยม