คนเชียงใหม่ เตรียมเดินหน้าร้องนายกฯ ขอ ม.44 สั่งรื้อบ้านพักตุลาการ อาคารอื่นไม่ยุ่ง

6 เม.ย. 61
จากกรณีที่ นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร อายุ 49 ปี, นายศรุต ศรีถาวร อายุ 44 ปี และนายดิลก จันทรดิลก อายุ 54 ปี ซึ่งอาสาเป็นตัวแทนประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ที่สนับสนุนการเรียกร้อง ให้มีการยุติ และยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยเริ่มต้นออกเดินเท้า จากจ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ไปกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าพบ และยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการดังกล่าว และคืนพื้นที่ป่า พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพ โดยเมื่อวานที่ผ่านมา (5 เม.ย.) ได้มีประกาศยุติการเดินทาง เนื่องจากมีข้อมูลว่า อาจจะมีผู้ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล
ตัวแทนประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่
วันนี้ (6 เม.ย.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายกฤตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานที่ผ่านมา (5 เม.ย.) ได้ตัดสินใจยกเลิกการเดินเท้าเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่เตรียมจะเดินทางออกจากจ.ลำปาง เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า มีกลุ่มผู้ที่เตรียมจะฉวยโอกาส สร้างสถานการณ์จากการเดินเพื่อเรียกร้องให้มีการยุติ และยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ให้บิดเบือนไปจากความจริง
แผนที่ การก่อสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ยังคงมีความแน่วแน่ตั้งใจ และมีจุดยืนเช่นเดิม ที่ต้องการเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว และรื้อถอนออกไปจากพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ โดยในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ที่มีการประชุมเจรจาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จะมีการยื่นข้อเสนอ และยืนยันเช่นเดียวกันนี้ว่า ต้องรื้อเท่านั้น หากไม่ได้รับการตอบสนอง จะกลับไปเริ่มต้นเดินเท้าต่ออีกครั้ง ที่จ.ลำปาง ในวันที่ 10 เม.ย. ทันที
บ้านพักข้าราชการตุลาการ
นอกจากนี้ นายกฤตย์ ยอมรับว่า การเดินเท้านั้น ไม่ได้ทำในนามเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แต่เป็นการเคลื่อนไหวส่วนตัว ในฐานะคนเชียงใหม่ ซึ่งทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการเรียกร้องให้มีการยุติ และยกเลิกโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยที่ในส่วนของตัวเอง ไม่เห็นด้วยกับการถวายฎีกา แต่เห็นว่าการยื่นหนังสือต่อนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้ ม.44 สั่งยกเลิกโครงการ น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่า และย้ำว่ามีเป้าหมายเรียกร้องให้ยกเลิกและรื้อเฉพาะโครงการบ้านพักข้าราชการฯเท่านั้น ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับอาคารสำนักงาน หรือโครงการอื่นๆ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น หากต้องยกเลิกโครงการ และทำการรื้อถอนนั้น เชื่อว่า คนเชียงใหม่รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศ พร้อมที่จะร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อนำไปชดใช้ให้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ