ต้องรื้อ! กลุ่มค้านสร้างบ้านตุลาการ คาใจด้านล่างดอยสุเทพที่เหลือไม่ทำ-ศาลพร้อมรับฟัง (คลิป)

6 เม.ย. 61
กรณีที่กลุ่มเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ออกมาคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ และขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ พร้อมทั้งได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในสถานที่ราชการต่างๆ มาโดยตลอด
สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าว
ล่าสุด นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรร ได้ออกแถลงข่าวว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวมีทั้งหมด 3 สัญญา แบ่งเป็นที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 (สร้างเสร็จแล้ว และใช้งานอยู่) ส่วนสัญญาที่ 2 เป็นที่พักข้าราชการศาล ประกอบด้วยบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง และอาคารชุดตุลาการ 16 หน่วย อาคารชุดธุรการ 36 หน่วย และสัญญาที่ 3 เป็นบ้านพักผู้บริหารศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 6 หลัง และคอนโดตุลาการ 64 หน่วย สำหรับโครงการที่ 2 ใช้งบประมาณ 321 ล้านบาทเศษ และโครงการที่ 3 ใช้งบประมาณ 342 ล้านบาทเศษ จะแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 9 และ 18 มิถุนายน 2561 ตามลำดับ รวมงบประมาณทั้ง 3 โครงการ คิดเป็นเงินประมาณกว่า 950 ล้านบาท
แผนที่การก่อสร้าง ที่ได้มีการขออนุญาตราชพัสดุ
นายสราวุธ ชี้แจงว่า สำหรับที่มาของที่ดินนั้น ได้มีการขออนุญาตราชพัสดุไปตั้งแต่ปี 2543 ในสมัยที่ศาลยุติธรรมยังอยู่ขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม กระทั่งวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2543 ศาลยุติธรรมได้แยกเป็นอิสระออกมา นอกจากนี้โครงการบ้านพักดังกล่าว ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีสำหรับข้าราชการที่ย้ายมา แต่เมื่อย้ายออกแล้ว ก็ให้คนใหม่เข้ามาพักต่อ ซึ่งที่ดินดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 147 ไร่ แต่ใช้ไปเพียง 89 ไร่ และไม่ได้มีก่อสร้างอาคารในที่สูงขึ้นไปบนเนินเขา และในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ได้มีการตัดไม้ทำลายป่า แต่มีการขุดย้ายต้นไม้ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.30 เมตรขึ้นไป โดยมีต้นประดู่ 29 ต้น ต้นพลวง 86 ต้น ต้นสัก 4 ต้น ต้นกระบาก 77 ต้น และไม้เนื้ออ่อนอีก 44 ต้น สำหรับแผนการดำเนินการหลังจากนี้ จะมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ยืนยันว่า จะไม่มีการตัดต้นไม้ใดๆทั้งสิ้น ไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม และดูแลพื้นที่ก่อสร้างให้สมบูรณ์ พร้อมกับดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างต่อเนื่อง ส่วนเหตุผลในการเลือกที่ดินดังกล่าวในการก่อสร้าง เป็นเพราะพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารของราชการในปัจจุบัน มีเหลืออยู่น้อย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งเป็นของราชการที่พอจะใช้ได้ และที่สำคัญในการก่อสร้างครั้งนี้ ก็ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่กรณีการบุกรุกป่าแต่อย่างใด นายสราวุธ ระบุว่า ที่จริงแล้วการก่อสร้างไม่ได้เกี่ยวกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพราะแต่เดิมศาลยุติธรรม อยู่กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตอนนั้น กระทรวงยุติธรรมเป็นคนดำเนินการ และถึงแม้ว่าจะแยกตัวออกมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นสัญญาผูกพัน ที่จะต้องทำตามระเบียบที่มีมาแต่เดิมให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน แต่ก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากจะให้ตนสั่งทุบทำลายทรัพย์สินของทางราชการ คงทำไม่ได้ แต่สำนักงานศาลยุติธรรม ยินดีที่จะรับฟังทุกความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ของประชาชน เพื่อหาทางออกร่วมกัน บนพื้นฐานของเหตุผล แต่ไม่สนับสนุนให้ใช้อารมณ์ หรือความรุนแรงในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ ที่ 9 เมษายนนี้ จะมีการประชุมภายในของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และเครือข่ายประชาชน เพื่อหามติร่วมกัน
โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนและกลุ่มเครือข่ายออกมาคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ พบว่าบริเวณดังกล่าวที่มีการก่อสร้าง เป็นพื้นที่ด้านหลังศาลอุทธรณ์ ภาค 5 โดยมีการสร้างรั้วแยกจากพื้นที่รอบข้าง อีกทั้งพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ของศาลฯ ทีมข่าวจึงไม่สามารถเดินทางเข้าไปภายในโครงการก่อสร้างได้
บ้านพักสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้าน ที่มีรั้วติดกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 และฝั่งขวาเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
ส่วนพื้นที่รอบข้างโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ บริเวณด้านหน้า จะเป็นที่ทำการสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ด้านข้างฝั่งซ้าย เป็นบ้านพักสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้าน ที่มีรั้วติดกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฝั่งขวาเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านหลังคือเขตป่าที่ติดกับเขตอุทยานดอยสุเทพ
นายธีระศักดิ์ ธูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
ด้าน นายธีระศักดิ์ ธูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกกับทีมข่าวว่า เครือข่ายของตน เริ่มออกมาคัดค้านตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2558 ซึ่งตนเองได้เข้าไปพบว่ามีรถแบ็คโฮ และเครื่องจักร เข้าไปปรับหน้าดิน ซึ่งเป็นการบุกรุกและทางป่าจำนวนมหาศาล ตนเองได้แจ้งประสานไปยังกรมอุทยาน แต่เมื่อมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นการกระทำนอกเขตอุทยาน โดยที่ผ่านมา ตนเองและเครือข่ายพยายามต่อสู้มาโดยตลอด เรื่องที่การก่อสร้างดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะอ้างว่าดำเนินการตามกฏหมายอย่างถูกต้อง แต่ในแง่ของความเหมาะสมจะอ้างไม่ได้ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นคำมั่นสัญญาระหว่างชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่กับหน่วยงานราชการ ว่าจะไม่มีการใช้พื้นที่ของดอยสุเทพ นอกจากการสร้างเสาสัญญาณส่งวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น เพราะดอยสุเทพ เป็นดอยที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และชาวเชียงใหม่เคารพนับถือมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ภาพมุมสูง พื้นที่ก่อสร้างหมู่บ้านตุลาการ
นายธีรศักดิ์ ยังมองว่า พื้นที่ด้านล่างของหน่วยงานทหาร มีมากเกือบ 100 ไร่ แต่ทำไมในงานศาลยุติธรรมจึงเลือกใช้พื้นที่เนินเขาของดอยสุเทพ ทำการโค่นป่าจำนวน 100 ไร่ ซึ่งมีแต่ต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ทั้งที่กระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ว่า ควรอนุรักษ์ป่าไม้ แต่เหตุใดสถาบันชั้นสูง ถึงมีการทำลายป่าเช่นนี้ อีกทั้งการจัดสร้างหมู่บ้านบนพื้นที่สูงนั้น จะเป็นการขวางทางน้ำ และลำน้ำแม่หยวก ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญ และการอาศัยอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริ ก็ไม่เหมาะสม เพราะจะมีการปล่อยของเสียลงมาสู่อ่างดังกล่าวได้ จนถึงขณะนี้ ที่ตนออกมาเคลื่อนไหว ยืนยันว่า ตนเองในฐานะคนเชียงใหม่ อยากให้มีการรื้อถอน ส่วนที่มีการก่อสร้าง และรุกล้ำพื้นที่ดอยสุเทพ และจะต้องคืนผืนป่าให้กับธรรมชาติ “ตนเองขอร้อง ให้มีการคืนผืนป่าให้กับคนไทยและชาวเชียงใหม่ เชื่อว่าการที่ตุลาการเข้าไปพักอาศัยอยู่ คงจะอยู่แบบไม่มีความสุข เพราะคนเชียงใหม่ยังคัดค้านการก่อสร้าง และยังคงสู้ไม่ยอมหยุด”
นายธีระศักดิ์ ธูปสุวรรณ พูดคุย ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว
ในส่วนของการเจรจาที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 9 เมษายนนี้ นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายและตนเอง ยังอยากให้ทำการรื้อถอนโครงการก่อสร้างมูลค่า 665 ล้านบาท ออกไปจากพื้นที่ แม้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นภาษีประชาชน แต่ก็ไม่เสียดาย เพราะจะได้ป่าคืนมา แต่หากผลสรุปยังไม่ได้ข้อยุติ เครือข่ายก็จะเดินทางเข้ายื่นร้องต่อศาลปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเพิกถอนหรือยุติโครงการนี้ออกไป สุดท้ายเมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็จะใช้หลักความเชื่อของชาวล้านนา โดยจัดพิธีสาปแช่งแบบชาวเชียงใหม่ ตามประเพณีล้านนา ที่มีความเชื่อว่า จะทำให้เกิดความรุนแรงพอสมควร ประกอบกับจะมีกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการให้รื้อถอน และออกมาคัดค้านเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนและป่าดอยสุเทพ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ