“ลีน่า จัง” ชมความดี “ษิทรา” ชี้ใส่เสื้อยืดช่วยคนไม่ผิด เตือนโพสต์เอามันส์ระวังถูกฟ้อง (คลิป)

17 มี.ค. 61
จากกรณี นายพัฒนา จาติเกตุ อุปนายกสภาทนายความฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวถึง นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทนายประชาชน มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายเรื่อง และเคยได้รับการแจ้งจากศาลเกี่ยวการแต่งกายที่ไม่สุภาพ เช่น สวมเสื้อยืดคอกลม กางเกงยีน บริเวณศาลของนายษิทธา รวมถึงการพาลูกความออกสื่อ และพูดจาข่มขู่คู่กรณีนั้น
นางลีนา จังจรรจา หรือ "ลีน่า จัง" พิธีกรรายการโทรทัศน์
วันนี้ (16 มี.ค.) ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางลีนา จังจรรจา หรือ "ลีน่า จัง" พิธีกรรายการโทรทัศน์ กล่าวว่า มรรยาทการแต่งกายของทนายความเมื่อเวลาไปศาล จะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย คือ สวมใส่เสื้อเชิ้ต และเสื้อสูท เพราะเวลาที่เข้าห้องพิจารณาคดี ทนายความต้องสวมใส่ชุดครุยทนาย ซึ่งต้องให้เกียรติและเคารพสถานที่ด้วย กรณีที่ไม่ได้ว่าความในชั้นศาล ไม่มีกฎหมายมรรยาท ระบุว่า ทนายความจะต้องแต่งกายแบบใด จะใส่กางเกงขาก๊วย เสื้อยืด ผ้าขี้ริ้วก็ใส่ได้ ไม่จำเป็นต้องใส่สูทตลอดเวลา บางครั้งทนายความก็ยากจน ไม่มีฐานะร่ำรวย เพราะว่าความให้ลูกความโดยไม่เก็บเงินก็มี อีกทั้งทนายความไม่ได้มีงานประจำ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อเสื้อได้บ่อยครั้ง อย่างตนก็เคยรับว่าความ ให้ลูกความฟรี หมดเงินไปแล้วกว่า 1 แสนบาท กรณีของทนายษิทรา หรือ "ทนายตั้ม" ที่มีคนไปร้องเรียนว่า แต่งกายไม่เรียบร้อย ส่วนตัวมองว่าหากทนายษิทรา ไม่ได้ไปว่าความในศาล หรืออยู่ในห้องพิจารณาคดี การแต่งกายสวมใส่เสื้อยืด รองเท้าหุ้มส้น คาดเข็มขัดเรียบร้อย ก็ถือว่าไม่ผิด เพียงแต่ข้อความบนเสื้อยืดของทนายษิทรา นั้นไม่เหมาะสม เพราะใช้คำว่า "ทนายประชาชน" ซึ่งเป็นการโฆษณา โดยผู้ที่เป็นทนายความ ตามมรรยาททนายความนั้น จะต้องห้ามโฆษณา หากทนายความมีสำนักงาน สามารถที่จะติดป้ายด้านหน้าได้ แต่หากมีการทำนามบัตร มีข้อความโฆษณาอวดอ้าง ถือว่าผิดมรรยาททนายความ เพราะมีข้อห้ามไม่ให้ทนายไปยุยง หรือส่งเสริมให้คนทะเลาะกัน สำหรับเรื่องการแต่งกาย ไม่ได้มีความผิดถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ แต่อาจจะมีการเรียกไปว่ากล่าวตักเตือน เพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง อย่างการไปฆ่าคน ข่มขืน ทำร้ายร่างกายคนอื่น หรือค้ายาเสพติด จนกลายเป็นคดีอาญา อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.มรรยาททนายความ เป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่ห้ามทนายความโอ้อวดโฆษณา อย่างคำว่า "ทนายประชาชน" มองดูเหมือนกับว่า เป็นทนายของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้ว ทนายของประชาชน หรือทนายของแผ่นดินก็คืออัยการ เพราะว่าความให้กับประชาชนฟรี
นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทนายประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตนยกย่องความดีของทนายษิทรา ที่ว่าความฟรีมามากว่า 10 ปี รวมถึงมีความฉลาด ในการหาพยานหลักฐานมาสู้ อย่างไม่ท้อถอย แต่เนื่องจากทนายษิทรา อาจจะอายุยังน้อย จึงชอบโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ทำให้เป็นข่าวได้ทุกวัน ซึ่งกลายเป็นความสนุกในการออกมาแฉฝ่ายตรงข้าม การโพสต์ในลักษณะดังกล่าว ถือว่าทำไม่ได้ เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาคู่กรณี ไม่ว่าจะครูปรีชา หรือลุงจรูญ ต่างเป็นผู้บริสุทธิ์ บางเรื่องไม่สมควรที่จะโพสต์ เพราะทนายไม่ใช่ผู้พิพากษา สำนวนต่างๆ ที่จะสู้คดีก็ควรเป็นความลับ ไม่ควรนำออกมาเผยแพร่ หรือโพสต์แฉกันทุกวันว่าใครเป็นอย่างนั้น หรือเป็นอย่างนี้ ส่วนกรณีที่นายแผน ไปฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่นายแผนจะทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะศาลยังไม่ตัดสิน สำหรับประเด็อนที่ทนายความ พาลูกความออกสื่อ หากออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เวลาไปพูดอะไร อยากให้สงบปากสงบคำเอาไว้ รวมถึงอย่าไปโพสต์อะไรเพื่อความสนุก เพราะเฟซบุ๊กเป็นสื่อสาธารณะ และคดีหวย 30 ล้านบาท ของทนายษิทรา ก็เป็นคดีที่คนให้ความสนใจทั้งประเทศ ทั้งนี้คนที่เข้ามาติดตามเฟซบุ๊กทนายษิทรา มีจำนวนมาก จึงต้องระมัดระวังในการกล่าวหาคู่กรณี หรือพยานของคู่กรณี ซึ่งไม่ควรทำ เพราะทนายไม่ใช่คู่กรณีของลูกความ เราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ว่าความ และเตรียมพยานหลักฐานให้ชนะฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ไม่ใช่เป็นไปคนทะเลาะกับเขาเอง สำหรับกรณีนี้ ตนคาดว่า ทางคณะกรรมการมรรยาท คงจะออกหมายเรียกทนายษิทรา ไปรับทราบข้อกล่าวหา แล้วมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน หากฟังแล้วเป็นที่ยุติ อาจจะเพียงแค่การตักเตือนเท่านั้นเอง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ