"ลีน่า จัง" หนุน ฆ่าหมาจร ฉะ พวกรักสัตว์ แต่ไม่เลี้ยง – BBC เตือนฉีดกันหมาบ้าก่อนเข้าไทย (คลิป)

16 มี.ค. 61
ขณะที่สังคมกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดกับสถานการณ์ของ “โรคพิษสุนัขบ้า” ในประเทศไทย วันนี้ ( 15 มี.ค. 61) “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น.ได้เชิญ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด , นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิทบูล” ประธานชมรมมิตรภาพพิทบูล , นางจุฑามาศ ทัศนา ญาติผู้เสียหายถูกหมาจรจัดทำร้าย และ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมพูดคุยในรายการ
นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิทบูล”
นายณัชพล กล่าวว่า ความจริงแล้วมีแต่คนตื่นตัวเรื่อง Set Zero แต่ไม่ค่อยมีใครตื่นตัวเรื่อง โรคพิษสุนัขบ้า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในเริ่องนี้ เพราะว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา ถึงแม้จะมีการ Set Zero จริง ตนไม่เชื่อว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาทั้งระบบ และควรมีการ Set Zero คนที่เลี้ยงสุนัข แต่ไม่มีความรับผิดชอบมากกว่า ตนมองว่า การเลี้ยงสุนัขต้องเลี้ยงด้วยความรัก และความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาแก่สังคม ซึ่งตนมองว่าควรให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนสุนัข คนที่เพาะสุนัขต้องคิดให้มากขึ้น และจะถูกฝังชิพโดยอัตโนมัติ และหากเจ้าของสุนัขไม่พาสุนัขไปขึ้นทะเบียน ก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการ หรือไม่ก็ระดมหาเงิน เพื่อนำมาเลี้ยงสุนัขจรจัด
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด
ทางด้าน นายสมบัติ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงนั้น คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แล้วเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้ ไม่ใช่เกิดจากสุนัขจรจัด ตนคิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าสุนัขบ้า นั้น เป็นสุนัขจรจัด อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่อาจจะขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไปกำจัดสุนัขจรจัด ก็ไม่ได้หมายความว่า โรคพิษสุนัขบ้า จะหมดไป และจะไม่มีคนตาย อันเนื่องมาจากโรคพิษสุนัขบ้า ตนอยากบอกว่า ช่วยอธิบายคำว่า สถานการณ์รุนแรงมากให้ฟังหน่อย ว่ารุนแรงอย่างไร เพราะจะเหมือน "ซอมบี้" หรือที่คนหนึ่งถูกกัดเสร็จแล้ว วิ่งไล่กัดอีกคน ซึ่งตนมองว่ามันไม่ใช่ คงไม่เป็นแบบนั้น คนส่วนใหญ่จะชอบคิดว่า เป็นเหมือน “ซอมบี้” ยกตัวอย่างเช่น พอถูกกัดเสร็จ สุนักจะวิ่งไปกัดอีกคนหนึ่ง ซึ่งตนมองว่าตัวไหนที่มีปัญหาก็แค่ดูแล และถ้าเราถูกกัดก็ไปฉีดยาเสีย อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ มองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสอนให้คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้สามารถฉีดวัคซีนกับสุนัขได้ โดยจ่ายค่าตอบแทนให้เพราะหากคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ฉีดวัคซีนได้ สุนัขภายในซอยก็จะถูกฉีดวัคซีนทุกตัวอย่างแน่นอน เนื่องจากหากรอสัตวแพทย์ออกจากคลินิก ก็คงต้องรอเป็นระยะเวลานาน และต้นทุนยังสูงอีกด้วย
นางจุฑามาศ ทัศนา
ด้าน นางจุฑามาศ กล่าวว่า ตอนที่เกิดเรื่องที่สุนัขจรจัด ทำร้ายลูกตน คิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นกับตน และมองว่า การแก้ปัญหาด้วยการฉัดวัคซีน หรือ พอขี้เกียจเลี้ยงสุนัขแล้วเอามาปล่อยนั้น ตนคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยตนมองว่า ควรมีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ เช่น หาที่ให้สุนัขจรจัดอยู่ หากมีการเปิดให้เลี้ยงสุนัขจรจัด ก็ต้องดูด้วยสถานที่มีเพียงพอที่จะรับเลี้ยงได้หรือไม่
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โฟนอินเข้าร่วมพูดคุยในรายการ
ส่วน รศ.ดร.เจษฎา มีความเห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยในเรื่อง Set Zero ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และคงเป็นเรื่องที่ฝืนความ รู้สึกของคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ การไปฆ่าสุนัขจำนวนมาก พร้อมกันนั้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ตนอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสาตร์ ที่อยู่บนพื้นฐานความจริง ไม่ได้โลกสวย การที่เราไม่กำจัดสุนัข ต้องมีการยืนยันว่า กระบวนการที่ทำอยู่จะสามารถใช้ได้ จากการวิจัยนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า หากเราต้องการกำจัด โรคพิษสุนัขบ้า ได้อย่างสิ้นเชิง จะต้องทำ 4 ขั้นตอนนี้ ให้สำเร็จคือ 1. การให้ความรู้กับประชาชน 2. ต้องมีการฉีดวัคซีนควบคุมสุนัขทั้งประเทศ ให้ได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ จึงสามารถ ควบคุมโรคได้ 3. ต้องลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของให้ได้มากที่สุด 4. ต้องมีการประกาศพื้นที่เป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ทีละจังหวัด จนครบทุกจังหวัด รศ.ดร.เจษฎา ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 4 ข้อนี้ ในปัจจุบันเราได้ทำในหลายขบวนการ แต่ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จทุกข้อ ขณะเดียวกันตนมองว่า ฆ่าสุนัขอย่างเดียว โดยไม่มีการควบคุมจำนวนประชากรสุนัข เดี๋ยวก็ต้องมีการเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก เพราะคงไม่สามารถฆ่าได้ทั้งหมด หากจะดูแลสุนัขทั้งหมด โดยไม่มีการทำลายสุนัขเลย ข้อเท็จจริงเราก็ไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลสุนัขทั้งหมดได้ ทั้งสองวิธีที่กล่าวมานั้น ล้วนสุดโต่งทั้งคู่ เพราะฉะนั้นเราต้องหาจุดกึ่งกลาง ที่มีความพอดี เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
นางลีนา จังจรรจา หรือ ลีน่า จัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว
ขณะที่สังคมกำลังพูดถึงเรื่องนี้ นางลีนา จังจรรจา หรือ "ลีน่า จัง" แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง Set Zero สุนัขและแมวจรจัด ว่า ตนเห็นด้วยกับเรื่อง Set Zero เพราะตนเป็นผู้เดือดร้อน และเคยประสบกับตัวเองมาก่อน เนื่องจากเพื่อนบ้านตนเลี้ยงสุนัข แมวจรจัดนับร้อยตัว แต่กลับมาขับถ่ายที่บ้านตน ต้องทุกข์ทรมานนาน 6 เดือน จนต้องทำกรงกั้นหมดเงินไปเกือบ 4 หมื่นบาท สำหรับคนที่คัดค้านแนวคิดนี้ บอกว่ารักสัตว์ จึงอยากถามกลับว่ารักจริงหรือเปล่า มีความรับผิดชอบหรือไม่ อยากให้เอาหมาแมวจรจัดไปเลี้ยง เห็นหลายๆ คนเลี้ยง จนตัวเองไม่มีกิน แล้วมาประกาศรับเงินบริจาค แล้วถ้าตัวเองตายไป แล้วใครจะรับดูแลต่อ ดังนั้นการหาที่อยู่ เพื่อรับเลี้ยงหมาแมวจรจัดไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาให้เพื่อนบ้าน เมื่อติดตามข่าวสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายราย ถ้าเกิดโรคนี้ไปเกิดกับลูก หรือครอบครัวของคนรักสัตว์ จะอ้างว่ารักสัตว์อยู่อีกไหม สุนัข คือสัตว์เดรัจฉาน ตนเคยได้ยินว่า บางคนเอาสุนัขพิทบูลมาเลี้ยง แล้วกัดแม่ของตัวเองตาย ก็รู้สึกสมน้ำหน้าคนที่รักสัตว์ มากกว่าแม่ของตัวเอง
นางลีน่า จัง พูดคุยกับผู้สื่อข่าว
ดังนั้น ตนจึงอยากสนับสนุนให้รัฐบาลใช้มาตรการ Set Zero เพราะหลายประเทศเขาก็ทำกัน ตนเคยไปญี่ปุ่น เห็นบ้านเมืองเขาไม่มีสัตว์จรจัด เดินบนท้องถนน มีแต่ประเทศไทยที่มีเต็มไปหมด ตนยอมรับว่า รู้สึกกลัวเพราะทราบมาว่าในกรุงเทพฯ ถูกจัดเป็นพื้นที่แพร่ระบาด ซึ่งการจะออกไปทำธุระต้องระวังเป็นพิเศษ ด้านสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นอกเหนือจากการพบเชื้อพิษสุนัขบ้าระบาดในพื้นที่ 40 จังหวัดของไทยแล้ว ขณะนี้จำนวนสุนัขและแมว “เฉพาะที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ” ในไทยได้เพิ่มจำนวนเป็นกว่า 400 ตัว ขณะที่จำนวนสุนัขและแมวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศไทยมีจำนวน “กว่า 10 ล้านตัว”
สำนักข่าวบีบีซี รายงานข่าวสถานการณ์ เรื่องโรคผิดสุนัขบ้า ในประเทศไทย
สื่อดังของอังกฤษ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในไทยแล้วอย่างน้อย 3 รายนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดทางการไทยจึงออกมาประกาศผ่านสื่อว่า สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าในประเทศได้แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทางการไทย “ต้องรอจนถึงเดือนกันยายน หรืออีก 6 เดือน” กว่าที่การเดินสายฉีดวัคซีนแก่สุนัขและแมวทั่วประเทศจะแล้วเสร็จ ขณะที่ในระยะยาว ทางการไทยตั้งเป้าจะขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างถาวรภายในปี ค.ศ.2020 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ “ซีดีซี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคระบาดอันดับ 1 ของโลก ได้ออก “คำแนะนำ” (ยังไม่ใช่ “คำเตือน”) ให้พลเมืองอเมริกัน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไป เข้ารับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีโปรแกรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่กลางแจ้ง หรือนักท่องเที่ยวที่มีแผนจะเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัดของไทย รายงานข่าวระบุว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งซีดีซีเมื่อปี ค.ศ.1946 ที่องค์กรแห่งนี้ต้องออก “คำแนะนำ” เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางซีดีซีมักจะออกคำแนะนำหรือคำเตือนผ่านสื่อกับโรคระบาดอย่างไวรัสอีโบล่า โรคซาร์ส หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ