ชาวบ้านคัดค้านประกาศเขตโบราณสถานรอบปราสาทหินพิมาย หวั่นถูกยึดที่ ฟ้องศาลปกครองแล้ว 300 ราย

26 ก.พ. 61
กรณีที่มีชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หลายร้อยคนออกมาแสดงพลังคัดค้นการประกาศเขตพื้นที่โบราณสถาน ของกรมศิลปากร หลังจากที่ทางกรมศิลปากร ได้ทำหนังสือส่งถึงประชาชน จำนวน 1,665 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2,658 ไร่ 25 ตารางวา บริเวณโดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทหินพิมาย เพื่อให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง ได้ทราบว่า กรศิลปากร จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504  เพื่อประกาศให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตโบราณสถาน โดยหนังสือระบุวันที่แจ้งมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 60 แต่หนังสือเพิ่งมาถึงชาวบ้านเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 61 ซึ่งมีกำหนดให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย สามารถไปใช้สิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ภายใน 30 วันนั้น ได้สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.พิมาย เป็นอย่างมาก จนมีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านจำนวนมาก
นายณัฐวัจน์ ศรีตระกูล ชาวบ้าน
ล่าสุด วันนี้ (26 ก.พ. 61) ผู้สื่อข่าวอมรินทร์ทีวี ลงพื้นที่สอบถามประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการประกาศของกรมศิลปากรครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กับการประกาศเขตโบราณสถานครอบคลุมพื้นที่จำนวนมาก แต่สนับสนุนให้ประกาศเฉพาะเขตพื้นที่ที่ตั้งของตัวปราสาทหินพิมายเท่านั้น โดยนายณัฐวัจน์ ศรีตระกูล อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 251/6-7 ม.2 ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า หลังจากกรมศิลปากร ส่งหนังสือถึงตน ถึงการประกาศให้พื้นที่บ้านของตน เป็นพื้นที่โบราณสถานนั้น ตนก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับรู้กรณีของ จ.สุโขทัย ที่กรมศิลปากรประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถานแล้ว ก็ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถต่อเติมบ้านเรือนได้ แม่ว่าช่วงนี้กรมศิลปากร จะบอกว่ายังไม่ได้เอาที่ดินไปทำอะไรก็ตาม แต่ต่อไปเมื่อได้ออกเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะเกิดความยากลำบากแน่นอน ครอบครัวตนอยู่ในพื้นที่ อ.พิมาย เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว อยากมีสิทธิในที่ดินของตนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  
นายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพิมาย
ทางด้าน นายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพิมาย กล่าวว่า เดิมทีกรมศิลปากร แจ้งให้ชาวบ้านทราบเพียงบางส่วน ว่า การประกาศเขตโบราณสถานครั้งนี้ ต้องการที่จะพัฒนาเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจำกัดอาคารสูง และเมื่อต้องการก่อสร้างในพื้นที่โบราณสถาน ต้องขอไปที่อธิบดีกรมศิลปากรเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเดิมทีก็มี พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วน ถูกแจ้งความบุกรุก ทั้งที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตโบราณสถานเลย ทั้งนี้ ประชาชนเห็นด้วยที่จะประกาศเขตโบราณสถาน แต่ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งปราสาทหินพิมายเท่านั้น อย่าเหมารวมพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านโดยรอบ เนื่องจากประชาชนอาศัยอยู่มานานแล้ว ปัจจุบันก็มีรั้วกั้นเป็นสัดส่วนของแต่ละครอบครัว มีเอกสารสิทธิ์ โฉนดที่ดินครอบครองอย่างชัดเจน ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย จึงออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้วประมาณ 300 ราย

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ