ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนมาถึงกลางปี 2563 โลกประสบความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจผันผวน จนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในพื้นที่ต่าง ๆ ก็พลอยผันผวน ชะลอตัวไปด้วย ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการลงทุนทั่วโลก แต่นักลงทุนจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ หากมีการวางแผนที่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางแผนจำเป็นต้องมีข้อมูลเสียก่อน ธนาคารซิตี้แบงก์จึงเผยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2563 เพื่อช่วยให้นักลงทุนเตรียมความพร้อมและเป็นแนวทางสำหรับอีกระยะเวลาสองไตรมาสที่เหลือ
นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “2020 Mid-Year Annual Outlook” แถลงข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนครึ่งหลังปี 2563 พบว่ามี 5 เรื่องที่น่ารู้ที่จะมาช่วยเสริมข้อมูลด้านการลงทุนไว้รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย
● เศรษฐกิจโลกภาพรวมปี 63 หดตัวแต่จะค่อย ๆ ฟื้นตัว - จากการวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 63 พบว่าอาจติดลบ 3.5% แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเป็น 5.5% ในปี 64 ตามลำดับ แต่ตลาดการลงทุนทั่วโลกก็ยังต้องเผชิญความท้าทายสูง จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา เป็นต้น
● ตัวเลขระดับภูมิภาคหลายแห่งจะกลับมาคึกคักคลายล็อกดาวน์ – เช่น อัตราการว่างงานที่ลดลง ยอดการค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ยังสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และรัฐบาลสหรัฐที่จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ดัชนีจีดีพียูโรโซนเองของครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวในระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดย ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจภูมิภาคในระยะยาว ตลอดจนจีดีพีของภูมิภาคเอเชียในปีนี้อาจโตขึ้น 0.5% โดยเฉพาะประเทศจีนที่คาดการเติบโตขึ้น 2.4% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มกลับมาคึกคัก แม้ประเทศจีนจะเป็นประเทศแรกที่เผชิญหน้ากับโควิด-19 ก็ตาม
● ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังคงเป็นดาวเด่น - นักวิเคราะห์ซิตี้คาดว่าหุ้นวัฎจักรจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียพบว่ามีความน่าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) ที่สามารถเติบโตในระยะยาวและทนทานต่อผลกระทบจาก โควิด-19 ได้ดีกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงทองคำก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ทโฟลิโอ
● จับตาราคาน้ำมันและทองคำต่อเนื่อง - โดยน้ำมันดิบยังมีอุปสงค์สวนกับอุปทานคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 และ 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารร์เรล ตามลำดับ ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมีแนวโน้มว่ามูลค่าเฉลี่ยจะประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 2564
● สกุลเงินต่างประเทศยังคงมีความผันผวนสูง - ผู้ที่สนใจลงทุนในค่าเงินต้องคอยเฝ้าดูเป็นพิเศษ เพราะค่าเงินยังคงผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาวในปีนี้ จากการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และสกุลเงินเยนเป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดหุ้นผันผวนซึ่งสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนก็ยังควรติดตามประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนควบคู่กันไปด้วย