เปิดใจญาติเหยื่อกระบะขับชนดะ ฉะป่วยลมชักไม่ควรขับ–หมอชี้สัญญาณกำเริบให้หยุดรถ (คลิป)

5 ธ.ค. 60
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ร.ต.ท.(ญ)ขวัญข้าว อินาวัง รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี รับแจ้งเหตุรถยนต์ขับพุ่งชนรถจักรยานยนต์หลายคัน มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย เสียชีวิต 2 ราย เหตุเกิดบนถนนเส้นพัทยาใต้บริเวณสี่แยกไฟแดงพัทยาใต้ไปทางหน้าตึกคอมพัทยา ม.10 ต.หนองปรือ อ.บาวละมุง จ.ชลบุรี หลังรับแจ้งจึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างบริบูรณ์ธรรมสถานเมืองพัทยารีบรุดไปตรวจสอบ ที่เกิดเหตุพบรถยนกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีดำสภาพด้านหน้าพังยับเยิน ตลอดเส้นทางกว่า 200 เมตรพบรถชิ้นส่วนอะไหล่จักรบานยนต์กระจัดกระจายเกลื่อถนน รถจักรยานยนต์ล้มระเนระนาดมีผู้บาดเจ็บกว่า 10 ราย ส่วนใหญ่ เป็นเด็กนักเรียน และ ผู้ปกครอง ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย และมีผู้เสียชีวิตคาที่ 2 ราย เจ้าหน้าที่เร่งปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาล
นายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ชาวจังหวัดชลบุรี
จากการสอบสวนนายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ชาวจังหวัดชลบุรี อยู่ในอาการมึนงง ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ขณะเกิดเหตุตนเองขับรถมาตามปกติ จากนั้นไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวอีกครั้งก็พบว่าขับรถชนชาวบ้านพัง ตนรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนยังมีโรคประจำตัวคือโรคลมชัก เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นรถกระบะของนายอัครเดช พบยาจำนวนมากอยู่ภายในกระเป๋าสีดำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวคนขับไปที่สภ.เมืองพััทยา เพื่อส่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
ทางด้าน พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่าหลังจากทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย นายอัครเดช ไม่ปรากฏระดับปริมาณแอลกอฮอล์แต่อย่างใด ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือขอตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาล และแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาถึงข้อเท็จจริงที่นายอัครเดช กล่าวอ้าง เรื่องลมชัก และได้มีการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของนายอัครเดชอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจจากแพทย์จะเป็นตัวระบุว่า นายอัครเดช เสพยาขณะขับรถหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอันตรายสาหัส และมีผู้ได้รับอันตรายแก่จิตใจ หลบหนีและขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หากพบว่า นายอัครเดช เสพสารเสพติดขณะขับรถด้วยนั้นจะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อไป ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ส่วนที่นายอัครเดช มีใบขับขี่เพราะทำมาก่อนที่จะป่วยเป็นโรคลมชัก
น.ส.เจนจิรา กิ่งเมือง อายุ 18 ปี น้องสาวผู้ได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนี้ ทีมข่าวได้พูดคุยกับ น.ส.เจนจิรา กิ่งเมือง อายุ 18 ปี น้องสาว น.ส.พรอุษา กิ่งเมือง อายุ 38 ปี ผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลขณะนี้ โดย น.ส.เจนจิรา เปิดเผยว่า พี่สาวของตนขับรถจักรยานยนต์กำลังจะกลับบ้าน บนถนนพัทยาใต้ มุ่งหน้า สี่แยกไฟแดงสาย 3 ระหว่างนั้น รถนายอัครเดช คู่กรณีขับมาชนพี่ตนทางด้านหลังเป็นคันแรกก่อนขับต่อไป ทำให้รถพี่สาวกระเด็นไปชนกับรถกระบะอีกคัน จนตัวพี่สาวไปอยู่อีกเลนและได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อตนทราบข่าว จึงได้รีบเดินทางไปที่เกิดเหตุด้วยความตกใจ กลัวพี่สาวจะเสียชีวิต เพราะที่เกิดเหตุพบสภาพรถจำนวนกว่า 10 คัน มีเลือดกองเต็มพื้น โดยขณะนั้นพี่สาวตนถูกนำส่งโรงพยาบาล และพบว่า กระดูกซี่โครงหัก 3 ซี่ ศีรษะแตก กระดูกต้นคอร้าว รวมถึงมีเลือดคั่งในช่องปอด แพทย์ต้องเจาะเลือดในจุดดังกล่าวออกและใช้เครื่องช่วยหายใจในตอนแรก แต่ตอนนี้อาการปลอดภัย ซึ่งต้องรอดูอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน ทั้งนี้ ตนมองว่า หากผู้ก่อเหตุเป็นโรคลมชักจริงก็ไม่ควรขับรถ เพราะทำให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และหากชนพี่สาวตนคันแรกแล้วหยุด เหตุการณ์ก็คงไม่รุนแรงถึงขนาดนี้
นายแพทย์ธนภูมิ ตรงกมลธรรม แพทย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์
ส่วนทางด้าน นายแพทย์ธนภูมิ ตรงกมลธรรม แพทย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เปิดเผยว่า สาเหตุของการเกิดโรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมองลัดวงจร และอาจมาจากทางกรรมพันธุ์ ของแต่ละบุคคลที่อาจได้มาจากทางบิดาหรือมารดา โดยภาวะชักจะมีอาการบ่งบอกคือ เกร็ง , ไข้ขึ้นสูง ได้ยินเสียงผิดปกติ เห็นแสงไฟที่ผิดแปลกไปจากเดิม เช่นเห็นเป็นสีรุ้ง หรือสีม่วง ส่วนวิธีการที่จะช่วยเหลือต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ส่วนวิธีงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วยนั้นไม่สามารถช่วยเหลือได้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้อง หรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติตนเองให้ดี พร้อมกับมีการเรียกรถโรงพยาบาล นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีระเบียบในการดำรงชีวิต คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรขับรถ แต่จะมีวิธีการยับยั้งอาการลมชักคือการกินยากันชัก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอาการชักจะไม่เกิดขึ้นมาอีก จึงควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ไม่ควรที่จะขับรถยนต์ เนื่องจาก ควรคำนึงถึงผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน เพราะถ้ายึดตัวเองเป็นหลักจะมีแต่ความสูญเสีย จึงอยากให้ผู้ขับขี่รถยนต์คิดถึงบุคคลอื่น ที่ต้องมารับผลจากการกระทำของตัวเอง

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ