แจงตัดงบ "บัตรทอง" ไปจ่ายเงินเดือน ขรก.บรรจุใหม่ 45,000 ตำแหน่ง สู้โควิด-19

23 เม.ย. 63

กระทรวงสาธารณสุข เผยการนำงบบัตรทอง ใช้เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน สำหรับจ่ายข้าราชการบรรจุใหม่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุขและอื่นๆ จำนวน 45,684 ตำแหน่ง และรัฐบาลได้เตรียมงบไว้กว่า 45,000 ล้านบาท เพื่อต่อสู้กับโควิด 19

วันนี้ (23 เมษายน 2563) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ครอบคลุม ถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร รัฐบาลได้นำงบค่าใช้จ่ายรายหัวส่วนนี้มาใช้เป็นเงินเดือนค่าตอบแทนของข้าราชการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด 19 นั้น ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขที่ร่วมต่อสู้กับโรคโควิด 19 ในครั้งนี้

9znua93z08owo0sgkc

นพ.สุขุมกล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. โดยได้จัดสรรงบกลางปี 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 1,233 ล้านบาท และรอบ 2 จำนวน 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของ สปสช. 3,260 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบกลางเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 1,551 ล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด 19 และรัฐบาลยังได้เตรียมไว้สนับสนุนอีกกว่า 45,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น

dsc_5661

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ในการจัดบริการประชาชนให้กับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี เช่นปี 2561 สปสช. ได้รับการสนับสนุน 5,186 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 5,000 ล้านบาท ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีปัญหาวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ในไตรมาส 2 นี้ (มีนาคม 2563) หากงบประมาณที่ใช้ในการบริการประชาชนไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม นพ.สุขุม ยอมรับว่าเงินเดือนบุคลากรที่ไปรวมอยู่ในงบบัตรทอง อาจทำให้เกิดความสับสน ว่าอะไรเป็นงบเงินเดือนหรืองบบริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเรียกร้องให้มีการแยกเงินเดือนออกมากลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้มองดูแล้วไม่สบายใจ สปสช.ก็สามารถเสนอให้แยกเงินเดือนข้าราชการออกมาเหมือนกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม แต่หากจะมีการแยกเงินเดือนกลับมา สธ. ก็จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเดือน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ