“ทวี”​ ชี้​เป็นสิทธิ์​ “ทักษิณ”​ ยื่นขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุด​ คดี ม.112​

11 มิ.ย. 67

 

“ทวี”​ ชี้​เป็นสิทธิ์​ “ทักษิณ”​ ยื่นขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุด​ คดี ม.112​ ได้ หากพนักงานสอบสวนถูกข่มขู่​ -​มีสิ่งจูงใจ ไม่ฟันธง​การยื่นฟ้องยุค​ คสช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่​ 

วันที่ 11 มิ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม​ กล่าวถึงกรณี นาย ทักษิณ ชินวัตร​ อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ใน คดี ม.112 โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนโดนข่มขู่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ​ (คสช.) ​ว่า​ 

เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กระทรวงยุติธรรม ต้องสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะเป็นส่วนของกระบวนการยุติธรรม​ ยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดในการตัดสิน 

ส่วนตามหลักการเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ในกระบวนการยุติธรรม คดีทางอาญาจะเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ถูกกล่าวหา และผู้กล่าวหาสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตลอด ไม่มีการห้ามในขั้นตอนใด และอำนาจการพิจารณาก็เป็นของอัยการสูงสุดเช่นกัน 

ส่วนลักษณะเช่นนี้ต้องการที่จะเปลี่ยน ผู้ทำคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า​ ตนไม่ทราบรายละเอียด และจากที่ฟังโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่ายังไม่ได้รับเรื่อง จึงยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่อยากตอบจึงไม่อยากตอบคำถามสมมติ เพราะอาจจะสับสน ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดมีทุกคดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าว 

ส่วนข้ออ้างที่ว่า คสช.ข่มขู่พนักงานสอบสวนฟังขึ้นหรือไม่​ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า หลักใหญ่เรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบนั้น เป็นหลักสำคัญของคดีอาญา เช่นพนักงานสอบสวนมีอำนาจหรือไม่ หรือพนักงานสอบสวน สอบสวนโดยชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน หรือพยาน หรือส่วนอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการบังคับขู่เข็ญ หรือการกระทำใดๆ เพื่อให้เกิดการจูงใจ ซึ่งเป็นประเด็นสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ 

เมื่อถามว่า คดี ม.112 ของนายทักษิณ ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ รับเป็นเจ้าภาพ ในการแจ้งความดำเนินคดีในขณะนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อำนาจการสอบสวน จะมีแค่พนักงานสอบสวน ทหารไม่ใช่พนักงานสอบสวน และถ้าเป็นคดีพิเศษ ก็จะเป็นอำนาจของกรมคดีสอบสวนพิเศษ ถือเป็นขั้นตอนตามปกติ 

เมื่อถามว่า ยืนยันว่า คสช. ใช้ช่องทางตามปกติ ในการดำเนินคดีกับนายทักษิณใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนจะเป็นตำรวจหรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ คนอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะการปรับ เรื่องการสอบสวนของ ก.ตร. ก็สามารถดำเนินการได้ 

เมื่อถามย้ำว่า ในสมัยนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ยื่นฟ้อง ถือว่าชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า สรุปไม่ได้ ต้องไปดูว่า เขาจะไปต่อสู้ ว่าการสอบสวนมีอำนาจและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีการบังคับขู่เข็ญ หรือการจูงใจ ถือเป็นการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ เป็นประเด็นในรายละเอียดแต่ละเรื่องไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส